นิทานโบรานคดี (2487)/นิทานที่ 15

จาก วิกิซอร์ซ


เมื่อฉันเปนนายพลผู้ช่วยบันชาการทหานบกหยู่ไนกรมยุธนาธิการระหว่าง พ.ส. 2430 จนถึง พ.ส. 2432 ได้เคยมีหน้าที่ทำการปราบพวกจีนอั้งยี่ไนกรุงเทพฯ ครั้งหนึ่ง ต่อมาถึงสมัยเมื่อฉันเปนตำแหน่งเสนาบดีกะซวงมหาดไทยตั้งแต่ พ.ส. 2435 จน พ.ส. 2458 มีหน้าที่ต้องคอยระวังพวกอั้งยี่ตามหัวเมืองหยู่เสมอ บางทีก็ต้องปราบปรามบ้าง แต่ไม่มีเหตุไหย่โตเหมือนเมื่อครั้งฉันหยู่ไนกรมยุธนาธิการ ถึงกะนั้น ก็ได้ความรู้ไนเรื่องอั้งยี่มากขึ้น ครั้นเมื่อฉันออกจากกะซวงมหาดไทยมาจัดการหอพระสมุดสำหรับพระนคร มีกิจตรวดค้นโบรานคดี พบเรื่องอั้งยี่ที่มีมาไนเมืองไทยแต่ก่อน ๆ ไนหนังสือพงสาวดารและจดหมายเหตุเก่าหลายแห่ง เลยหยากรู้เรื่องตำนานของพวกอั้งยี่ จึงได้ไถ่ถามผู้ที่เคยเปนหัวหน้าอั้งยี่ที่คุ้นเคยกัน คือ พระอนุวัติราชนิยม ซึ่งมักเรียกกันว่า "ยี่กอฮง" นั้นเปนต้น เขาเล่าไห้ฟัง ได้ความรู้เพิ่มเติมขึ้นอีก จึงได้ลองเขียนบันทึกเรื่องอั้งยี่ไว้บ้างหลายปีมาแล้ว ครั้นออกมาหยู่เมืองปีนัง ฉันได้เห็นตำนานต้นเรื่องอั้งยี่ทีแรกเกิดขึ้นไนเมืองจีน มิสเตอร์ปิคเกอริง Mr W.A. Pickering แปลจากภาสาจีนไนตำราของพวกอั้งยี่ พิมพ์เปนภาสาอังกริดไว้ไนหนังสือวารสารของสมาคมรอแยลอาเซียติค Journal of the Royal Asiatic Society เมื่อ ค.ส. 1878 (พ.ส. 2421) เขาเล่าถึงเรื่องที่พวกจีนมาตั้งอั้งยี่ไนหัวเมืองขึ้นของอังกริดไนแหลมมลายูด้วย เปนอันได้เรื่องเบื้องต้นต่อกับเรื่องอั้งยี่ที่ฉันเคยรู้มาก่อนอีกตอนหนึ่ง จึงลองรวมเนื้อความเรื่องอั้งยี่เขียนนิทานเรื่องนี้

เมื่อพวกเม่งจูได้เมืองจีนไว้ไนอำนาด ตั้งราชวงส์ไต้เชงครองเมืองจีนแล้ว ถึง พ.ส. 2207 พระเจ้าคังฮีได้เสวยราชย์เปนรัชกาลที่ 2 ไนรัชกาลนั้นมีพวกฮวนเฮงโน้วหยู่ทางทิสตะวันตกยกกองทัพมาตีเมืองจีน เจ้าเมืองกรมการที่รักสาหัวเมืองชายแดนจีนต่อสู้ข้าสึกไม่ไหว พระเจ้ากรุงจีนคังฮีจะแต่งกองทัพออกไปจากกรุงปักกิ่ง หาตัวแม่ทัพไม่ได้ จึงไห้ออกประกาสว่า ถ้าไครอาสาปราบปรามพวกฮวนได้ จะประทานทองเปนบำเหน็ด 10,000 ตำลึง และจะไห้ปกครองผู้คน 10,000 ครัวเปนบริวาร ครั้งนั้น ที่วัดแห่งหนึ่งหยู่บนพูเขากุ้ยเล้ง แขวงเมืองเกี้ยนเล้ง ไนแดนจีนฮกเกี้ยน มีหลวงจีนหยู่ด้วยกัน 128 องค์ ได้ร่ำเรียนรู้วิชาอาคมมาก พากันเข้าอาสารบพวกฮวน พระเจ้ากรุงจีนซงยินดี แต่วิตกว่า หลวงจีนมีแต่ 128 องค์ด้วยกัน พวกข้าสึกมีมากนัก จึงตรัดสั่งไห้ขุนนางผู้ไหย่คนหนึ่งชื่อ เต็งกุนตัด คุมกองทัพไปด้วยกันกับพวกหลวงจีนไปรบข้าสึกที่ด่านท่งก๊วน พวกหลวงจีนกับพวกกองทัพกรุงปักกิ่งมีชัยชนะค่าฟันพวกฮวนล้มตายแตกหนีไปหมด พระเจ้ากรุงจีนจะประทานบำเหน็จรางวันตามประกาส พวกหลวงจีนไม่รับยสสักดิ์และบริวาร ขอกลับไปจำสีลภาวนาหยู่หย่างเดิม รับแต่ทอง 10,000 ตำลึงไปบำรุงวัด พระเจ้ากรุงจีนก็ต้องตามไจ แต่ส่วนเต็งกุนตัด ขุนนางผู้ไหย่ที่ไปช่วยพวกหลวงจีนรบนั้น ได้รับบำเหน็ดเปนตำแหน่งแม่ทัพไหย่ นะ เมืองโอ๊วก๊วง

เต็งกุนตัดกับหลวงจีน 128 องค์เคยชอบพอกันสนิธสนมมาตั้งแต่ไปรบพวกฮวน เมื่อจะออกจากเมืองปักกิ่งแยกกันไป เต็งกุนตัดจึงเชินหลวงจีนทั้งหมดไปกินเลี้ยงด้วยกันวันหนึ่ง แล้วเลยกะทำสัจสาบานเปนพี่น้องกันต่อไปไนวันหน้า ก็ไนเวลานั้น มีขุนนางกังฉิน 2 คนเคยเปนอริกับเต็งกุนตัดมาแต่ก่อน ทูนพระเจ้ากรุงจีนว่า เมื่อเต็งกุนตัดจะออกไปจากกรุงปักกิ่ง ได้ลอบกะทำสัจสาบานเปนพี่น้องกับพวกหลวงจีน 128 องค์ ดูผิดสังเกต สงสัยว่า เต็งกุนตัดจะคิดมักไหย่ไฝ่สูง จึงได้สาบานเปนพี่น้องไว้กับพวกหลวงจีนที่มีริทธิ์เดช โดยหมายจะเอาไว้เปนกำลัง เวลาเต็งกุนตัดออกไปเปนแม่ทัพบังคับบันชารี้พลมาก ถ้าได้ช่อง ก็จะสมคบกับพวกหลวงจีนพากันยกกองทัพเข้ามาชิงราชสมบัติ น่ากลัวคนไนเมืองหลวงจะไม่กล้าต่อสู้เพราะกลัวริทธิ์เดชของพวกหลวงจีน พวกขุนนางกังฉินคอยหาเหตุทูนยุยงหย่างนั้นจนพระเจ้ากรุงจีนคังฮีเห็นจริงด้วย จึงปรึกสากันคิดกลอุบายตั้งขุนนางกังฉิน 2 คนนั้นเปนข้าหลวง คนหนึ่งไห้ไปยังเมืองโอ๊วก๊วง ทำเปนทีว่าคุมของบำเหน็ดไปพระราชทานเต็งกุนตัด อีกคนหนึ่งไห้ไปยังวัดบนพูเขากุ้ยเล้ง ทำเปนทีว่าคุมเครื่องราชพลีมีสุราบานและสเบียงอาหารเปนต้นไปพระราชทานแก่พวกหลวงจีน 128 องค์ เมื่อข้าหลวงไปถึงเมืองโอ๊วก๊วง เต็งกุนตัดออกไปรับข้าหลวงถึงนอกเมืองหลวงตามประเพนี ข้าหลวงก็อ่านท้องตราว่า เต็งกุนตัดคิดกบดต้องโทสถึงประหารชีวิต แล้วจับตัวเต็งกุนตัดค่าเสีย ฝ่ายข้าหลวงที่ไปยังพูเขากุ้ยเล้ง พวกหลวงจีนก็ต้อนรับโดยมีการเลี้ยงรับที่วัด ข้าหลวงเอายาพิสเจือสุราของประทานไปตั้งเลี้ยง แต่หลวงจีนเจ้าวัดได้กลิ่นผิดสุราสามัญ เอากะบี่กายสิทธิ์สำหรับวัดมาจุ้มลงชันสูตร เกิดเปลวไฟพลุ่งขึ้น รู้ว่าเปนสุราเจือยาพิส ก็เอากะบี่ฟันข้าหลวงตาย แต่ขนะนั้น พวกของข้าหลวงที่ล้อมหยู่ข้างนอกพากันจุดไฟเผาวัดจนไหม้โซมหมด พวกหลวงจีน 128 องค์ตายไปไนไฟบ้าง ถูกพวกข้าหลวงค่าตายบ้าง หนีรอดไปได้แต่ 5 องค์ ชื่อ ฉอ องค์หนึ่ง บุง องค์หนึ่ง มะ องค์หนึ่ง โอ องค์หนึ่ง ลิ องค์หนึ่ง พากันไปซ่อนตัวหยู่ที่วัดแห่งหนึ่งไนแขวงเมืองโอ๊วก๊วงที่เต็งกุนตัดเคยเปนแม่ทัพหยู่แต่ก่อน

หยู่มาวันหนึ่ง หลวงจีน 5 องค์นั้นลงไปที่ริมลำธาร แลเห็นกะถางธูปรูปสามขามีหูสองข้างไบหนึ่งลอยมาไนน้ำ กำลังมีควันธูปขึ้นไปไนอากาส นึกหลากไจ จึงลงไปยกขึ้นมาบนบกพิจารนาดู เห็นมีตัวอักสรหยู่ที่ก้นกะถางธูปนั้น 4 ตัวว่า หวน เชง หก เหม็ง แปลว่า กำจัดเชงเสีย กลับยกเหม็งขึ้น นึกสงสัยว่า เทวดาฟ้าและดินจะสั่งไห้ทำหย่างนั้นหรือหย่างไร ลองเสี่ยงทายดูหลายครั้งก็ปรากตว่าไห้ทำเช่นนั้นทุกครั้ง หลวงจีนทั้ง 5 ประจักส์แจ้งแก่ไจดังนั้น จึงเอาหย้าปักต่างธูปที่ไนกะถางจุดบูชา แล้วกะทำสัจกันตามแบบที่เล่าปี่ กวนอู เตียวหุย สัญญากันแต่ก่อนว่า จะช่วยกันทำนุบำรุงแผ่นดิน และจะกำจัดราชวงส์ไต้เชง เอาบ้านเมืองคืนไห้แก่ราชวงส์ไต้เหม็งตามเดิม เมื่อปติญานกันแล้ว เห็นสมุดตำราพยากรน์มีหยู่ไนก้นกะถางธูปด้วย ก็พากันยินดียิ่งนัก แต่ไนขนะนั้นเอง พวกข้าหลวงที่เที่ยวติดตามก็ไปถึง จะเข้าล้อมจับ พวกหลวงจีนจึงอุ้มกะถางธูปวิ่งหนีไป ผเอินไนวันนั้น นางกู้ส่วยเอง เมียเต็งกุดตัดที่ถูกค่าตาย พาลูกและญาติพี่น้องออกไปเซ่น นะ ที่ฝังสพเต็งกุนตัด ไนเวลากำลังเซ่นหยู่ ได้ยินเหมือนเสียงคน แลไปดูเห็นกะบี่เล่มหนึ่งโผล่ขึ้นมาจากแผ่นดิน เอามาพิจารนาดู เห็นมีตัวอักสรจารึกที่กั่นกะบี่ว่า น่อ เล้ง โต๊ว แปลว่า มังกรสองตัวชิงดวงมุกดากัน และที่ตัวกะบี่ก็มีอักสรจารึกว่า หวน เชง หก เหม็ง แปลว่า ไห้กำจัดราชวงส์ไต้เช็ง คืนแผ่นดินไห้ราชวงส์ไต้เหม็ง ไนเวลาที่กำลังพิจารนาตัวอักสรหยู่นั้น ได้ยินเสียงคนร้องไห้ช่วย นางกู้ส่วยเองก็ถือกะบี่ที่ได้ไหม่พาพวกพ้องออกไปดู เห็นพวกข้าหลวงกำลังไล่หลวงจีนทั้ง 5 องค์มา พวกนางกู้ส่วยเองเข้าป้องกันหลวงจีน เอากะบี่ฟันถูกข้าหลวงตาย พัคพวกก็หนีไปหมด นางกู้ส่วยเองกับหลวงจีนต่างไถ่ถามและเล่าเรื่องฝ่ายของตนไห้กันฟัง ก็รู้ว่า เปนพวกเดียวกันมาแต่เดิม และได้ถูกเนรคุนหย่างเดียวกัน นางจึงไห้พวกหลวงจีนอาสัยหยู่ที่บ้าน จนเห็นการสืบจับสงบเงียบแล้ว จึงไห้หลวงจีนทั้ง 5 กลับไปหยู่วัดตามเดิม หลวงจีนทั้ง 5 นี้ได้นามว่า โหงว โจ๊ว แปลว่า บุรุสทั้งห้า ของอั้งยี่ต่อมา

ถึงตอนนี้ หลวงจีนทั้ง 5 แน่ไจว่า เทวดาฟ้าดินไห้คิดอ่านกู้บ้านเมืองด้วยกำจัดราชวงส์ไต้เชง ก็ตั้งหน้าเกลี้ยกล่อมผู้คนไห้ร่วมคิด ได้พัคพวกมากขึ้น แต่กิตติสัพท์รู้ไปถึงเจ้าเมืองกรมการก็ไห้ออกไปจับ หลวงจีนทั้ง 5 จึงต้องหนีจากเมืองโอ๊วก๊วงต่อไป ไปพบนายโจรพวกทหานเสือ 5 น[1] เมื่อพูดสนทนากัน พวกนายโจรเลื่อมไส รับจะพาโจรบริวารของตนมาเข้าพวกด้วย แล้วพาหลวงจีนไปหยู่สำนักพูเขาเหล็งโฮ้ว แปลว่า มังกรเสือ ไนเวลานั้น มีหลวงจีนองค์หนึ่งชื่อ ตั้งกิ๋มน้ำ เคยเรียนรู้หนังสือมากจนได้เปนขุนนางรับราชการจนได้เปนขุนนางทำราชการหยู่ไนกรุงปักกิ่ง หยู่มาสังเกตว่า ราชวงส์ไต้เชงปกครองบ้านเมืองไม่เปนยุตติธัม เกิดท้อไจ จึงลาออกจากราชการไปบวดเปนหลวงจีนจำสีลสึกสาวิชาอาคมของลัทธิสาสนาเต๋าหยู่ นะ ถ้ำแป๊ะเฮาะตั่ง แปลว่า นกกะสาเผือก จนมีผู้คนนับถือมาก วันหนึ่ง ลูกสิส 4 คนไปบอกข่าวว่า หลวงจีนห้าองค์ได้ของวิเสสคิดอ่านจะกำจัดราชวงส์เชงกู้บ้านเมือง หลวงจีนตั้งกิ๋มน้ำก็ยินดี พาสิส 4 คนตามไปยังสำนักของหลวงจีน 5 องค์ นะ พูเขามังกรเสือ ขอสมัครเข้าเปนพวกร่วมคิดช่วยกู้บ้านเมืองด้วย ไนพวกที่ไปขอสมัครนั้นยังมีคนสำคันอีก 2 คน คนหนึ่งเปนชายหนุ่มชื่อ จูฮุ่งชัก เปนราชนัดดาของพระเจ้าเซ่งจงไนราชวงส์ไต้เหม็ง อีกคนหนึ่งเปนหลวงจีนชื่อ บั้งลุ้ง รูปร่างสูงไหย่มีกำลังวังชากล้าหานมาก เมื่อรวบรวมพัคพวกได้มากแล้ว พวกคิดการกำจัดราชวงส์ไต้เชงจึงประชุมกันทำสัจสาบานเปนพี่น้องกันทั้งหมด แล้วยกเจ้าจูฮุ่งชักขึ้นเปนรัชทายาทราชวงส์ไต้เหม็ง ตั้งหลวงจีนตั้งกิ๋มน้ำซึ่งเปนผู้มีความรู้มากเปนอาจารย์ (จีนแส) และตั้งหลวงจีนบั้งลุ้งเปน "ตั้วเฮีย" แปลว่า "พี่ชายไหย่" และเปนตำแหน่งจอมพล ตัวนายนอกจากนั้นก็ไห้มีตำแหน่งและคุมหมวดกองต่าง ๆ แล้วพากันยกรี้พลไปตั้งหยู่ที่พูเขาฮ่งฮวง แปลว่า พูเขาหงส์ (จะเปนแขวงเมืองไหนไม่ปรากต) หวังจะตีเอาบ้านเมืองคืน ได้รบกับกองทหานที่ประจำเมืองนั้น รบกันครั้งแรกพวกกบดมีชัยชนะตีกองทหานหลวงแตกหนีเข้าเมือง แต่รบครั้งหลังเกิดเหตุอัปมงคลขึ้นหย่างแปลกประหลาด ด้วยไนเวลาหลวงจีนบั้งลุ้งตั้วเฮียขี่ม้าขับพลเข้ารบ ม้าลมลง ตัวจอมพลตกม้าตาย พวกกบดก็แตกพ่ายพากันหนีกลับไปยังเขามังกรเสือ หลวงจีนตั้งกิ๋มน้ำผู้เปนอาจารย์เห็นว่า เกิดเหตุอันมิบังควนผิดสังเกต ตรวดตำราดูก็รู้ว่า เปนเพราะชตาราชวงส์ไต้เชงยังรุ่งเรือง ไนตำราว่า สัตรูไม่สามาถจะทำร้ายได้ จึงชี้แจงแก่พวกกบดว่า ถ้าจะรบพุ่งต่อไปไนเวลานั้นก็ไม่สำเหร็ดได้ดังประสงค์ ต้องเปลี่ยนอุบายเปนหย่างอื่น แนะไห้พวกที่ทำสัจสาบานกันแล้วแยกย้ายกะจายกันไปหยู่โดยลำพังตัวตามหัวเมืองต่าง ๆ และทุก ๆ คนไปคิดตั้งสมาคมลับขึ้นไนตำบลที่ตนไปหยู่ หาพวกพี่น้องน้ำสบถร่วมความคิดกันไห้มีมากแพร่หลาย พอถึงเวลาชตาราชวงส์ไต้เชงตก ก็ไห้พร้อมมือกันเข้าตีบ้านเมือง จึงจะกำจัดราชวงส์ไต้เชงได้ พวกกบดเห็นชอบด้วย จึงตั้งสมาคมลับไห้เรียกชื่อว่า "เทียน ตี้ หวย" แปลว่า "ฟ้า ดิน มนุส" หรือเรียกโดยย่ออีกหย่าง "ซาฮะ" แปลว่า "องค์สาม" คือ ฟ้าดินมนุสและตั้งแบบแผนสมาคม ทั้งวิธีสบถสาบานรับสมาชิก และข้อบังคับสำหรับสมาชิก กับกิริยาอาการที่จะสแดงความลับกันไนระหว่างสมาชิกไห้รู้ว่าเปนพวกเดียวกัน จึงเกิดสมาคมลับที่ไทยเราเรียกว่า "อั้งยี่" ขึ้นไนเมืองจีนด้วยประการฉะนี้ รัถบาลจีนรู้ว่าไครเปนพวกอั้งยี่ก็จับค่าเสีย ถึงหย่างนั้น พวกสมาคม "เทียน ตี้ หวย" หรือ "ซาฮะ" ก็ยังมีหยู่ไนเมืองจีนสืบมา รัถบาลทำลายล้างไม่หมดได้

ไนหนังสือฝรั่งแต่งเขาว่า พวกจีนที่ทิ้งบ้านเมืองไปเที่ยวทำมาหากินตามต่างประเทสล้วนแต่เปนชาวเมืองชายทเลภาคไต้และหยู่ไนพวกที่เปนคนขัดสนทั้งนั้น จีนชาวเมืองดอนหรือที่มีทรัพย์สินสมบูรน์หามีไครทิ้งบ้านเมืองไปเที่ยวหากินตามต่างประเทสไม่ และว่า พวกจีนที่ไปหากินตามต่างประเทสนั้น จีนต่างภาสามักชอบไปประเทสต่างกัน พวกจีนแต้จิ๋วมักชอบไปเมืองไทย พวกจีนฮกเกี้ยนมักชอบไปเมืองชวามลายู พวกจีนกวางตุ้งมักชอบไปอเมริกา เมื่ออังกริดตั้งเมืองสิงคโปร์ (ตรงกับตอนปลายรัชกาลที่ 2 กรุงรัตนโกสินท์) มีพวกจีนหยู่ไนแหลมมลายูเปนอันมากมาแต่ก่อนแล้ว ที่มาได้ผลประโยชน์จนมีกำลังเลยตั้งตัวเปนหลักแหล่งก็มี ไนสมัยนั้น จีนที่มาเที่ยวหากินไนเมืองไทยและมืองชวามลายูมาแต่ผู้ชาย จีนที่มาตั้งตัวหยู่เปนหลักแหล่งมาได้หยิงชาวเมืองเปนเมีย มีลูกเกิดด้วยสมพงส์เช่นนั้น มลายูเรียกผู้ชายว่า "บาบ๋า" เรียกผู้หยิงว่า "ยอหยา" ทางเมืองชวามลายูจีนผู้เปนพ่อไม่พอไจจะไห้ลูกถือสาสนาอิสลามตามแม่ จึงฝึกหัดอบรมไห้ลูกทั้งชายหยิงเปนจีนสืบตระกูลต่อมาทุกชั่ว เพราะฉะนั้น จีนไนเมืองชวามลายูจึงต่างกันเปน 2 หย่าง คือ "จีนนอก" ที่มาจากเมืองจีนหย่างหนึ่ง "จีนบาบ๋า" ที่เกิดขึ้นไนท้องที่หย่างหนึ่ง มีหยู่เสมอ ผิดกันกับเมืองไทยเพราะเหตุที่ไทยถือพระพุทธสาสนาร่วมกับจีน ลูกจีนที่เกิดไนเมืองไทย ถ้าเปนผู้ชายคงเปนจีนตามหย่างพ่อหยู่เพียงชั่วหนึ่งหรือสองชั่วก็กลายเปนไทย แต่ลูกผู้หยิงเปนไทยไปตามแม่ตั้งแต่ชั่วแรก ไนเมืองไทยจึงมีแต่จีนนอกกับไทยที่เปนเชื้อจีน หามีจีนบาบ๋าเปนจีนประจำหยู่พวกหนึ่งต่างหากไม่

ไนสมัยเมื่ออังกริดแรกตั้งสิงคโปร์นั้น พวกจีนก็เริ่มตั้งอั้งยี่ คือ สมาคมลับที่เรียกว่า "เทียน ตี้ หวย" หรือ "ซาฮะ" ขึ้นไนเมืองมลายูบ้างแล้ว อังกริดรู้หยู่ว่า วัตถุที่ประสงค์ของพวกอั้งยี่จะกำจัดราชวงส์ไต้เชงอันเปนการไนเมืองจีน ไม่เห็นว่า มีมูลอันไดจะมาตั้งอั้งยี่ไนเมืองต่างประเทส สืบถามได้ความว่า พวกจีนมาตั้งอั้งยี่ไนเมืองมลายูไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องกำจัดราชวงส์ไต้เชง เปนแต่เอาแบบแผนกะบวนสมาคม "เทียน ตี้ หวย" ไนเมืองจีนมาตั้งขึ้นเพื่อจะสงเคราะห์พวกจีนที่จะทำมาหากินทางเมืองมลายูมิไห้ต้องตกยากหรือได้ความเดือดร้อนเพราะถูกพวกมลายูกดขี่ข่มเหงเท่านั้น อีกประการหนึ่ง ปรากตว่า พวกอั้งยี่มีแต่ไนพวกจีนนอก แต่พวกจีนที่มาตั้งตัวเปนหลักแหล่งและพวกจีนบาบ๋าที่เกิดไนแหลมมลายูหาเกี่ยวข้องกับพวกอั้งยี่ไม่ อังกริดเห็นว่า เปนแต่สมาคมสงเคราะห์กันและกัน ก็ปล่อยไห้มีอั้งยี่หยู่ ไม่ห้ามปราม ครั้นจำเนียรกาลนานมา (ถึงสมัยรัชกาลที่ 4 กรุงรัตนโกสินท์) เมื่อเสถกิจไนแหลมมลายูจเรินขึ้น พวกพ่อค้าที่ขุดแร่ดีบุกและที่ทำเรือกสวนต้องการแรงงานมากขึ้น ต่างก็เรียกหาว่าจ้างจีนไนเมืองจีนมาเปนกัมกรมากขึ้นโดยลำดับ จำนวนจีนที่เปนอั้งยี่ก็มีมากขึ้นและจัดแยกกันเปนหลายเหล่าจนเหลือกำลังผู้ที่เปน "ตั้วเฮีย" หัวหน้าจะว่ากล่าวปกครองได้ ไม่มีไครสมัคเปนตั้วเฮีย พวกอั้งยี่ก็แยกกันเปนหลายกงสี เรียกชื่อต่างกัน ต่างมีแต่ "ยี่เฮีย" (แปลว่า พี่ที่สอง) เปนหัวหน้าเปนอิสระแก่กัน และอั้งยี่ต่างกงสีมักเกิดวิวาทตีรันฟันแทงกันจนรัถบาลรำคาน แต่จะบังคับไห้เลิกอั้งยี่ก็เกรงจะเกิดลำบาก ด้วยอาดจะเปนเหตุไห้พวกจีนไนเมืองจีนหวาดหวั่นไม่มารับจ้างเปนกัมกรพอต้องการเหมือนแต่ก่อน หย่างหนึ่ง และพวกจีนกัมกรมีมากกว่าแต่ก่อนมาก ถ้าพวกอั้งยี่ขัดขืน ก็ต้องไช้กำลังปราบปราม กลายเปนการไหย่โตขึ้นกว่าเหตุ อีกประการหนึ่ง เห็นว่า พวกอั้งยี่เปนแต่มักวิวาทกันเอง หาได้ทำร้ายต่อรัถบาลหย่างไดไม่ อังกริดตั้งข้อบังคับควบคุมพวกอั้งยี่เปนสายกลาง คือ ถ้าจีนตั้งสมาคมอั้งยี่หรือสาขาของสมาคมที่ไหน ต้องมาขออนุญาตต่อรัถบาล บอกชื่อผู้เปนหัวหน้าและพนักงานของสมาคมก่อน ต่อไปได้รับอนุญาตจึงตั้งได้ ถ้ารัถบาลมีกิจเกี่ยวข้องแก่พวกอั้งยี่สมาคมไหน ก็จะว่ากล่าวเอาความรับผิดชอบแก่หัวหน้าและพนักงานสมาคมนั้น แต่นั้นมา พวกอั้งยี่สมาคมต่าง ๆ ก็ตั้งกงสีของสมาคม นะ ที่ต่าง ๆ แพร่หลายโดยวิธี "รัถบาลเลี้ยงอั้งยี่" เปนประเพนีสืบมา

ที่เอาเรื่องอั้งยี่ไนหัวเมืองขึ้นของอังกริดมาเล่า เพราะมามีเรื่องเกี่ยวข้องกับเมืองไทยเมื่อพายหลัง ดังจะปรากตต่อไปข้างหน้า

ไนหนังสือจดหมายเหตุของไทยไช้คำเรียกอั้งยี่ต่างกันตามสมัย แต่ความไม่ตรงกับที่จิงทั้งนั้น จึงจะแซกคำอธิบายเรียกต่าง ๆ ลงตรงนี้ก่อน ชื่อของสมาคมที่ตั้งไนเมืองจีนแต่เดิมเรียกว่า "เทียน ตี้ หวย" แปลว่า "ฟ้า ดิน มนุส" หรือเรียกโดยย่ออีกหย่างหนึ่งตามภาสาจีนฮกเกี้ยนว่า "ซาฮะ" ตามภาสาจีนแต้จิ๋วแปลว่า "องค์สาม" เปนนามของอั้งยี่ทุกพวก ครั้นอั้งยี่แยกกันเปนหลายกงสี จึงมีชื่อกงสีเรียกต่างกัน เช่นว่า "งี่หิน ปูนเถ้าก๋ง งี่ฮก ตั้วกงสี ซิวลิกือ" เปนต้น คำว่า "อั้งยี่" แปลว่า "หนังสือแดง" ก็เปนแต่ชื่อกงสีอันหนึ่งเท่านั้น ยังมีชื่อสำหรับเรียกตัวนายอีกส่วนหนึ่ง ผู้ที่เปนหัวหน้าอั้งยี่ไนถิ่นอันหนึ่งรวมกันทุกกงสี เรียกตามภาสาฮกเกี้ยนว่า "ตั้วกอ" ตามภาสาแต้จิ๋วเรียกว่า "ตั้วเฮีย" แปลว่า "พี่ไหย่" ผู้ที่เปนหัวหน้ากงสีเรียกว่า "ยี่กอ" หรือ "ยี่เฮีย" แปลว่า "พี่ที่สอง" ตัวนายรองลงมาเรียกว่า "สามกอ" หรือ "ซาเฮีย" แปลว่า "พี่ที่สาม" ไนจดหมายเหตุของไทยเดิมเรียกพวกสมาคมเทียนตี้หวยทั้งหมดว่า "ตั้วเฮีย" มาจนรัชกาลที่ 5 เปลี่ยนคำ "ตั้วเฮีย" เรียก "อั้งยี่" ไนนิทานนี้ฉันเรียกว่าอั้งยี่มาแต่ต้นเพื่อไห้สดวกแก่ผู้อ่าน

อั้งยี่แรกมีขึ้นไนเมืองไทยเมื่อรัชกาลที่ 3 มูลเหตุที่จะเกิดอั้งยี่นั้นเนื่องมาแต่อังกริดเอาฝิ่นอินเดียเข้าไปขายไนเมืองจีนมากขึ้น พวกจีนตามเมืองชายทเลพากันสูบฝิ่นติดแพร่หลาย จีนเข้ามาหากินไนเมืองไทยที่เปนคนสูบฝิ่นก็เอาฝิ่นเข้ามาสูบกันแพร่หลายกว่าแต่ก่อน เลยเปนปัจจัยไห้มีไทยสูบฝิ่นมากขึ้น แม้จนถึงชั้นผู้ดีที่เปนเจ้าและขุนนางพากันสูบฝิ่นติดก็มี ก็ไนเมืองไทยมีกดหมายห้ามมาแต่ก่อนแล้วมิไห้ไครสูบฝิ่น หรือซื้อฝิ่น ขายฝิ่น เมื่อปรากตว่ามีคนสูบฝิ่นขึ้นแพร่หลายเช่นนั้น พระบาทสมเด็ดพระนั่งเกล้าเจ้าหยู่หัวจึงดำหรัดสั่งไห้ตรวดจับฝิ่นตามกดหมายหย่างกวดขัน แต่พวกจีนและไทยที่สูบฝิ่นติดมีมาก ก็จำต้องลอบหาซื้อฝิ่นสูบ เปนเหตุไห้คนลอบขายฝิ่นขึ้นราคาขายได้กำไรงาม จึงมีพวกจีนคิดค้าฝิ่นด้วยตั้งอั้งยี่วางสมัคพัคพวกไว้ตามหัวเมืองชายทเลที่ไม่มีการตรวดตรา คอยรับฝิ่นจากเรือสำเพาที่มาจากเมืองจีน แล้วเอาปลอมปนกับสินค้าอื่นส่งเข้ามายังกงสีไหย่ซึ่งตั้งขึ้นตามที่ลี้ลับไนหัวเมืองไกล้ ๆ กรุงเทพฯ ลอบขายฝิ่นเปนรายย่อยเข้ามายังพระนคร ข้าหลวงสืบรู้ออกไปจับ ถ้าซ่องไหนมีพัคพวกมาก ก็ต่อสู้จนถึงเกิดเหตุรบพุ่งกันหลายครั้ง มีปรากตไนหนังสือพงสาวดารว่า

เมื่อ พ.ส. 2385 เกิดอั้งยี่ที่ไนแขวงจังหวัดนครชัยสรีและจังหวัดสมุทสาคร แต่ปราบได้โดยไม่ต้องรบพุ่งครั้งหนึ่ง

ต่อนั้นมา 2 ปี ถึง พ.ส. 2387 พวกอั้งยี่ตั้งซ่องขายฝิ่นขึ้นที่ไนป่าแสมริมชายทเล นะ ตำบลแสมดำไนระหว่างปากน้ำบางปกงกับแขวงจังหวัดสมุทปราการ ต่อสู้เจ้าพนักงานจับฝิ่น ต้องไห้กรมทหานปากน้ำไปปราบ ยิงพวกอั้งยี่ตายหลายคน และจับตัวหัวหน้าได้ อั้งยี่จึงสงบอีกครั้งหนึ่ง

ต่อมาอีก 3 ปี ถึง พ.ส. 2390 พวกอั้งยี่ตั้งซ่องขายฝิ่นขึ้นอีกที่ตำบลลัดกรุด แขวงเมืองสมุทสาคร ครั้งนี้ พวกอั้งยี่มีพัคพวกมากกว่าแต่ก่อน พระยามหาเทพ (ปาน) ซึ่งเปนหัวหน้าพนักงานจับฝิ่น ออกไปจับเอง ถูกพวกอั้งยี่ยิงตาย จึงโปรดไห้สมเด็ดเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงส์ เมื่อยังเปนเจ้าพระยาพระคลัง คุมกำลังไปปราบ ค่าพวกอั้งยี่ตายประมาน 400 คน และจับตัวหัวหน้าได้ จึงสงบ

ปราบพวกอั้งยี่ที่ลัดกรุดได้ไม่ถึงเดือน พอเดือน 5 พ.ส. 2391 พวกอั้งยี่ก็กำเริบขึ้นที่เมืองฉเชิงเซา คราวนี้ถึงเปนกบด ค่าพระยาวิเสสลือชัย ผู้ว่าราชการจังหวัด ตาย แล้วพวกอั้งยี่เข้ายึดป้อมเมืองฉเชิงเซาไว้เปนที่มั่น โปรดไห้สมเด็ดเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงส์ยกพลจากเมืองสมุทสาครไปปราบ พวกอั้งยี่ที่เมืองฉเชิงเซาต่อสู้พ่ายแพ้ พวกจีนถูกค่าตายกว่า 3,000 คน อั้งยี่เมืองฉเชิงเซาจึงสงบ ต่อมาอีก 2 ปีก็สิ้นรัชกาลที่ 3

เมื่อรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็ดพระจอมเกล้าเจ้าหยู่หัวตรัดปรึกสาเสนาบดีเห็นพร้อมกันว่า การจับฝิ่นเมื่อรัชกาลที่ 3 แม้จับกุมหย่างกวดขันมาหลายปี ฝิ่นก็ยังเข้ามาได้เสมอ คนสูบฝิ่นก็ยังมีมากไม่หมดไป ซ้ำเปนเหตุไห้เกิดอั้งยี่ถึงต้องรบพุ่งค่าฟันกันหลายครั้ง จะไช้วิธีจับฝิ่นหย่างนั้นต่อไปเห็นจะไม่เปนประโยชน์อันได จึงเปลี่ยนนโยบายเปนตั้งพาสีฝิ่นผูกขาด คือ ฉเพาะแต่รัถบาลซื้อฝิ่นเข้ามาต้มขายเอากำไรไห้จีนซื้อฝิ่นสูบได้ตามชอบไจ คงห้ามแต่ไทยมิไห้สูบฝิ่น

พระบาทสมเด็ดพระจอมเกล้าเจ้าหยู่หัวซงพระราชดำริอีกหย่างหนึ่งว่า ที่อั้งยี่หาพัคพวกได้มาก เปนเพราะพวกจีนที่ไปทำเรือกสวนหรือค้าขายหยู่ตามหัวเมืองมักถูกพวกจีนเจ้าพาสีเบียดเบียนไนการเก็บอากร และถูกคนไนพื้นเมืองรังแกได้ความเดือดร้อน ไม่มีไครจะเกื้อหนุน จึงมักไปพึ่งอั้งยี่ ซงแก้ไขข้อนี้ด้วยไห้เลือกหาจีนที่ตั้งตัวได้เปนหลักแหล่งแล้วและเปนคนซื่อตรงมีคนนับถือมาก ตั้งเปนเปนตำแหน่งปลัดจีนขึ้นไนกรมการตามหัวเมืองที่มีจีนมาก สำหรับช่วยอุปการะและรับทุขร้อนของพวกจีนขึ้นเสนอต่อรัถบาล เมื่อซงแก้ไขด้วยอุบาย 2 หย่างนั้น เหตุการน์เรื่องอั้งยี่ก็สงบเงียบมาได้หลายปี

แต่ถึงตอนปลายรัชกาลที่ 4 มีอั้งยี่เกิดขึ้นอีกด้วยเหตุหย่างอื่น เหตุที่เกิดอั้งยี่ตอนนี้เนื่องมาจากประเพนีจีนเข้าเมือง ด้วยจีนที่ทิ้งถิ่นไปทำมาหากินตามต่างประเทสล้วนเปนคนยากจน มักไปแต่ตัว แม้เงินค่าโดยสานเรือก็ไม่มีจะเสีย เมื่อเรือไปถึงเมืองไหน เช่น เมืองสิงคโปร์ก็ดี หรือมาถึงกรุงเทพฯ ก็ดี มีจีนไนเมืองนั้นที่เปนญาติหรือเปนเถ้าเก๋หาลูกจ้างไปรับเสียเงินค่าโดยสานและรองเงินล่วงหน้าไห้จีนที่เข้ามาไหม่ ไทยเรียกว่า "จีนไหม่" ทางเมืองสิงคโปร์เรียกว่า "Sing Keh" แล้วทำสัญญากันว่า เถ้าเก๋จะรับเลี้ยงไห้กินหยู่ ข้างฝ่ายจีนไหม่จะทำงานไห้เปล่าไม่เอาค่าจ้างปีหนึ่ง งานที่ทำนั้นเถ้าเก๋จะไช้เอง หรือจะไห้ไปทำงานไห้คนอื่น เถ้าเก๋เปนผู้ได้ค่าจ้าง หรือแม้เถ้าเก๋จะโอนสิทธิไนสัญญาไห้ผู้อื่นก็ได้ เมื่อครบปีหนึ่งแล้ว ก็สิ้นเขตที่เปนจีนไหม่พ้นหนี้สิน จะรับจ้างเถ้าเก๋ทำงานต่อไป หรือไปทำมาหากินที่อื่นโดยลำพังตนก็ได้ มีประเพนีหย่างนี้มาแต่เดิม ถึงรัชกาลที่ 4 ตั้งแต่ไทยทำหนังสือสัญญาค้าขายกับฝรั่งต่างชาติเมื่อ พ.ส. 2398 การค้าขายไนเมืองไทยจเรินขึ้นรวดเร็ว มีโรงจักรสีข้าวเลื่อยไม้และมีการขนลำเลียงสินค้าอันต้องการแรงงานมากขึ้น ทั้งเวลานั้นการคมนาคมกับเมืองจีนสดวกขึ้น ด้วยมีเรือกำปั่นไปมาบ่อย ๆ พวกจีนไหม่ที่เข้ามาหากินก็มากขึ้น จึงเปนเหตุไห้มีจีนไนกรุงเทพฯ คิดหาผลประโยชน์ด้วยการเปนเถ้าเก๋รับจีนไหม่เข้าเมืองโดยวิธีดังกล่าวมาแล้วมากขึ้น และการนั้นได้กำไรงาม ก็เกิดแข่งกันเกลี้ยกล่อมจีนไหม่ พวกเถ้าแก่จึงเลยอาสัยจีนไหม่ของตนไห้ช่วยกันเกลี้ยกล่อมจีนเข้ามาไหม่ ตลอดจนไปชิงกันหางานไห้พวกจีนไหม่ของตนทำ ก็เลยตั้งพวกเปนอั้งยี่ด้วยประการฉะนี้ แต่ผิดกับอั้งยี่รัชกาลที่ 3 ด้วยไม่คิดร้ายต่อรัถบาลและมีแต่พวกละน้อย ๆ หลายพวกด้วยกัน

แต่เมื่อปีเถาะ พ.ส. 2410 ก่อนจะสิ้นรัชกาลที่ 4 มีพวกอั้งยี่กำเริบขึ้นที่เมืองพูเก็ต แต่มิได้เกี่ยวข้องกับจีนไนกรุงเทพฯ ด้วย พวกอั้งยี่ที่เมืองพูเก็ตขยายมาจากเมืองขึ้นของอังกริดซึ่งรัถบาลไช้นโยบายหย่าง "เลี้ยงอั้งยี่" ดังกล่าวมาแล้ว พวกจีนไนแดนอังกริดไปมาค้าขายกับหัวเมืองไทยทางตะวันตกหยู่เปนนิจ พวกอั้งยี่ไนแดนอังกริดจึงมาเกลี้ยกล่อมจีนที่เมืองพูเก็ตไห้ตั้งอั้งยี่เพื่อสงเคราะห์กันและกันเปนสาขาของกงสี "งี่หิน" พวกหนึ่งมีประมาน 3,500คน ของกงสี "ปูนเถ้าก๋ง" พวกหนึ่งมีประมาน 4,000 คน หยู่มานายอั้งยี่ทั้งสองพวกนั้นวิวาทกันด้วยชิงสายน้ำที่ทำเหมืองล้างแร่ดีบุก ต่างเรียกพวกอั้งยี่ของตนมารบกันที่กลางเมือง ผู้ว่าราชการเมืองพูเก็ตห้ามก็ไม่ฟัง จะปราบก็ไม่มีกำลังพอการ จึงโปรดไห้เจ้าพระยาภานุวงส์ฯ เมื่อยังเปนที่พระยาเทพประชุน ปลัดทูนฉลองกะซวงกลาโหม เปนข้าหลวงออกไปยังเมืองพูเก็ต ไห้ไปพิจารนาว่ากล่าวเรื่องอั้งยี่วิวาทกัน ถ้าพวกอั้งยี่ไม่ฟังคำบังคับบันชา ก็ไห้เรียกระดมพลตามหัวเมืองปราบปรามด้วยกำลัง แต่เมื่อเจ้าพระยาภานุวงส์ฯ ออกไปถึง หัวหน้าอั้งยี่ทั้งสองพวกอ่อนน้อมโดยดี เจ้าพระยาภานุวงส์ฯ ว่ากล่าวระงับเหตุวิวาทเรียบร้อยแล้ว พาตัวพวกหัวหน้าอั้งยี่ทั้งสองกงสีรวม 9 คนเข้ามาสารภาพรับผิดไนกรุงเทพฯ จึงโปรดไห้ถือน้ำกะทำสัจสาบานว่า จะไม่คิดร้ายต่อแผ่นดิน แล้วปล่อยตัวกลับไปทำมาหากินหย่างเดิม

การระงับอั้งยี่วิวาทกันที่เมืองพูเก็ตครั้งนั้นเปนเหตุที่ไทยจะเอาวิธี "เลี้ยงอั้งยี่" หย่างที่อังกริดจัดตามเมืองไนแหลมมลายูมาไช้ที่เมืองพูเก็ตก่อน แล้วเลยเข้ามาไช้ไนกรุงเทพฯ เมื่อภายหลัง แต่อนุโลมไห้เข้ากับประเพนีไทยมิไห้ขัดกัน เปนต้นว่า ที่เมืองพูเก็ตนั้นเลือกจีนที่มีพัคพวกนับถือมากตั้งเปน "หัวหน้าต้นแซ่" สำหรับนำกิจทุขสุขของพวกตนเสนอต่อรัถบาลและควบคุมว่ากล่าวคนของตนตามประสงค์ของรัถบาลคล้าย ๆ กับกัมการจีน ที่เปนคนมีหลักถานมั่นคงถึงไห้มีบันดาสักดิ์เปนขุนเปนหลวงก็มี แต่พวกหัวหน้าต้นแซ่นั้นก็เปนอั้งยี่พวกงี่เฮงหรือปูนเถ้าก๋งทุกคน การที่จัดขึ้นเปนแต่หย่างควบคุมอั้งยี่และไห้มีพวกหัวหน้าต้นแซ่สำหรับรัถบาลไช้ไปว่ากล่าวพวกอั้งยี่และคอยห้ามปรามมิไห้อั้งยี่ต่างพวกวิวาทกัน แต่ยังยอมไห้พวกจีนตั้งอั้งยี่ได้ตามไจไม่ห้ามปราม

พระบาทสมเด็ดพระจุลจอมเกล้าเจ้าหยู่หัวเสวยราชย์เมื่อเดือนตุลาคม ปีมะโรง พ.ส. 2411 เวลานั้นยังซงพระเยาว์วัย พระชันสาเพียง 16 ปี จึงต้องมีผู้สำเหร็ดราชการแทนพระองค์ และสมเด็ดเจ้าพระยาบรมมหาสรีสุริยวงส์ เมื่อยังเปนเจ้าพระยาสรีสุริยวงส์ สมุหพระกลาโหม ได้เปนผู้สำเหร็ดราชการหยู่ 5 ปี

เวลาเมื่อเปลี่ยนรัชกาลครั้งนั้น มีเหตุต่าง ๆ ที่ทำไห้รัถบาลลำบากหลายเรื่อง เรื่องอื่นยกไว้ จะเล่าแต่เรื่องเนื่องกับพวกอั้งยี่ เมื่อกำลังจะเปลี่ยนรัชกาล มีอั้งยี่พวกหนึ่งไนกรุงเทพฯ ต่อสู้เจ้าพาสีฝิ่นไนโรงกงก๊วนที่ริมฝั่งสัมพันธวงส์ถึงสู้รบกันขึ้นไนสำเพ็ง พอเปลี่ยนรัชกาล อั้งยี่พวกหนึ่งก็คุมกันเที่ยวปล้นราสดรที่ไนแขวงจังหวัดนครชัยสรี และทำท่าทางจะกำเริบขึ้นที่อื่นอีกทั้งไนกรุงเทพฯ และหัวเมือง สมเด็ดเจ้าพระยาฯ ระงับด้วยไช้อุบายหลายหย่าง พิเคราะห์ดูน่าพิสวง

หย่างที่หนึ่ง ไช้ปราบด้วยอาญา ดังเช่นปราบอั้งยี่ที่กำเริบขึ้นไนแขวงจังหวัดนครชัยสรี เมื่อจับได้ไห้ส่งเข้ามากรุงเทพฯ เอาตัวหัวหน้าประหารชีวิตและสมัคพัคพวกทั้งหมดจำคุกไห้ปรากตแก่คนทั้งหลาย

อีกหย่างหนึ่ง ไช้อุบายขู่ไห้พวกอั้งยี่กลัวด้วยจัดการซ้อมรบที่สนามชัยถวายพระเจ้าหยู่หัวทอดพระเนตรบนพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ทุกสัปดาห์ ฉันยังเปนเด็กไว้จุก เคยตามสเด็ดไปดูหลายครั้ง การซ้อมรบนั้น บางวันก็ไห้ทหานปืนไหย่ปืนเล็กยิงปืนติดดินดำเสียงดังสนั่นครั่นครื้น บางวันก็ไห้ทำเปนโครงค่ายมีหุ่นรูปคนหยู่ประจำ เอาช้างรบออกซ้อมแทงหุ่นทำลายค่าย เวลานั้น มีช้างรบหยู่ไนกรุงเทพฯ สักสามสี่เชือก ตัวหนึ่งชื่อ พลายแก้ว เจ้าพระยายมราช (แก้ว) หัดที่เมืองนครราชสีมา กล้าหานนัก พอเห็นยิงปืนออกมาจากค่าย ก็สวนควันเข้าไปรื้อค่ายแทงรูปหุ่นที่รักสาทำลายลง พวกชาวพระนครไม่เคยเห็นการซ้อมรบหย่างนั้น พากันมาดูมากกว่ามาก เกิดกิตติสัพท์ระบือไปถึงพวกอั้งยี่ ก็กลัวไม่ก่อเหตุอันไดได้จริง

อุบายของสมเด็ดเจ้าพระยาฯ อีกหย่างหนึ่งนั้น ขยายการบำรุงจีนอนุโลมตามกะแสพระราชดำหริของพระบาทสมเด็ดพระจอมเกล้าเจ้าหยู่หัวซึ่งซงตั้งปลัดจีนตามหัวเมือดังกล่าวมาแล้ว และเวลานั้น มีความลำบากเพิ่มขึ้นอีกหย่างหนึ่งด้วย เพราะเมื่อตอนปลายรัชกาลที่ 4 มีพวกชาวจีนชาวเมืองขึ้นของอังกริด ฝรั่งเสส ฮอลันดา และโปรตุเกส เข้ามาหากินไนกรุงเทพฯ มากขึ้น ก็ตามหนังสือสัญญายอมไห้จีนเหล่านั้นหยู่ไนความป้องกันของกงสุลชาตินั้น ๆ จึงเรียกกันว่า "พวกร่มทง" หมายความว่า "หยู่ไนร่มทงของต่างประเทส" หรือเรียกอีกหย่างหนึ่งว่า "สับเย๊ก" (subject) หมายความว่า "เปนคนไนชาตินั้น ๆ" ไม่ต้องหยู่ไนอำนาดโรงสาลหรือไนบังคับรัถบาลของบ้านเมือง แม้กงสุลต่างประเทสช่วยห้ามมิไห้จีนไนร่มทงเปนอั้งยี่ก็ดี สมเด็ดเจ้าพระยาฯ ก็ยังวิตกเกรงว่า พวกจีนชั้นพลเมืองจะพากันหยากเข้าร่มทงฝรั่ง เพราะฉะนั้น พอเปลี่ยนรัชกาลได้ 3 สัปดาห์ ก็ประกาสตั้งสาลคดีจีนขึ้นไนกรมท่าซ้าย ไห้พระยาโชดึกราชเสดถี (จ๋อง แล้วเปลี่ยนเปนพระยาโชดึกฯ พุก) คนหนึ่ง หลวงพิพิธภันทวิจารน์ (ฟัก พายหลังได้เปนพระยาโชดึกฯ) คนหนึ่ง กับหลวงพิชัยวารี (มลิ) คนหนึ่ง (เปนชั้นลูกจีนทั้ง 3 คน) เปนผู้พิพากสาสำหรับชำระตัดสินคดีที่คู่ความเปนจีนทั้งสองฝ่าย ด้วยไช้ภาสาจีนและประเพนีจีนไนการพิจารนา แต่ห้ามมิไห้รับคดีที่คู่ความเปนจีนแต่ฝ่ายเดียวหรือคดีที่เปนความอาญาว่ากล่าวไนสาลนั้น นอกจากตั้งสาล ไห้แบ่งเขตท้องที่อันมีจีนหยู่มาก เช่น ไนสำเพ็ง เปนหลายอำเพอ ตามหัวเมืองก็ไห้ปลัดจีนมีอำนาดว่ากล่าวคดีจีน อำเพอที่มีจีนหยู่มากก็ตั้งหัวหน้าไห้มีเงินเปนตำแหน่ง "กงสุลจีนไนบังคับสยาม" สำหรับเปนผู้อุปการะจีนหยู่ไนอำเพอนั้น ๆ

ส่วนการควบคุมพวกอั้งยี่นั้น สมเด็ดเจ้าพระยาฯ ก็อนุโลมเอาแบบหย่างอังกริด "เลี้ยงอั้งยี่" ที่ไนแหลมมลายูมาไช้ ปรากตว่า ไห้สืบเอาตัวจีนเถ้าแก่ที่เปนหัวหน้าอั้งยี่ได้ 14 คน แล้วตั้งข้าหลวง 3 คน คือ เจ้าพระยาภานุวงส์ฯ เมื่อยังเปนพระยาเทพประชุน (ซึ่งเคยไปปราบอั้งยี่ที่เมืองพูเก็ต) คนหนึ่ง พระยาโชดึกราชเสตถี คนหนึ่ง พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง (เนียม) ซึ่งเปนผู้บังคับการกองตระเวน (โปลิส) ไนกรุงเทพฯ คนหนึ่ง พร้อมด้วยขุนนางจีนเจ้าพาสีอีกบางคน พาพวกหัวหน้าอั้งยี่ 14 คนนั้นไปทำพิธีถือน้ำกะทำสัจไนวิหารพระโตนะวัดกัลยานมิตรซึ่งจีนนับถือมาก รับสัญญาว่า จะไม่คิดประทุสร้ายต่อพระเจ้าหยู่หัว และจะคอยระวังพวกอั้งยี่ของตนมิไห้คิดร้ายด้วย แล้วปล่อยตัวไปทั้ง 14 คน แต่นั้น สมเด็ดเจ้าพระยาฯ ก็เอาพวกหัวหน้าอั้งยี่เหล่านั้นมาเปนคนรับไช้สอยของท่าน ไห้ตรวจตราว่ากล่าวมิไห้พวกอั้งยี่กำเริบ ก็สำเหร็ดประโยชน์ได้สมประสงค์ พวกอั้งยี่ก็เรียบร้อย เพราะไช้วิธี "เลี้ยงอั้งยี่" มาตลอดเวลาสมเด็ดเจ้าพระยาฯ มีอำนาดไนราชการแผ่นดิน

ถึงปีชวด พ.ส. 2419 เปนปีที่ 9 ไนรัชกาลที่ 5 เกิดลำบากด้วยพวกจีนอั้งยี่ที่เปนกัมกรที่ทำเหมืองแร่ดีบุกที่เมืองระนองและเมืองพูเก็ตกำเริบคล้ายกับเปนกบด ต้องปราบปรามเปนการไหย่โต แต่ว่าพวกอั้งยี่ทางหัวเมืองไนแหลมมลายูเปนสาขาของพวกอั้งยี่กงสี "งี่หิน" แล "กงสีปูนเถ้าก๋ง" ไนแดนอังกริดมาตั้งขึ้นไนเมืองไทย ไม่ติดต่อกับพวกอั้งยี่ไนกรุงเทพฯ ดังกล่าวมาไนเรื่องปราบอั้งยี่ที่เมืองพูเก็ตเมื่อปีมะโรง พ.ส. 2411 นั้นแล้ว แต่ครั้งนั้นมา การทำเหมืองแร่ดีบุกที่เมืองระนองกับเมืองพูเก็ตจเรินขึ้น มีพวกจีนกัมกรเข้ามารับจ้างขุดขนดีบุกมากขึ้นเปนลำดับมา จนที่เมืองระนองมีจำนวนจีนกัมกรกว่า 3,000 คน และที่เมืองพูเก็ตก็มีจำนวนจีนกัมกรหลายหมื่น มากกว่าจำนวนราสดรไทยที่หยู่ไนตัวเมืองทั้งสองแห่ง ตามบ้านนอกพวกจีนกัมกรไปรวมกันรับจ้างขุดแร่หยู่ที่ไหน ทั้งพวกงี่หินและพวกปูนเถ้าก๋งต่างก็ไปตั้งกงสีอั้งยี่พวกของตนขึ้นที่นั่น มีนายรองปกครองขึ้นต่อผู้ที่รัถบาลตั้งเปนหัวหน้าต้นแซ่ซึ่งเปนผู้มีถิ่นถานหยู่ไนเมือง จึงมีกงสีอั้งยี่หยู่ตามเหมืองแร่แทบทุกแห่ง พวกหัวหน้าต้นแซ่ก็ช่วยรัถบาลรักสาความสงบเรียบร้อยได้ตลอดมา แต่เมื่อปีชวด พ.ส. 2419 นั้น ผเอินดีบุกตกราคา พวกนายเหมืองขายดีบุกได้เงินไม่พอไห้ค่าจ้างกัมกร จึงเกิดเหตุขึ้นที่เมืองระนองก่อน

ปรากตว่า เมื่อเดือน 3 แรม 14 ค่ำ ถึงตรุสจีน พวกกัมกรที่เปนอั้งยี่ปูนเถ้าก๋งพวกหนึ่งไปทวงเงินต่อนายเหมืองขอไห้ชำระหนี้สินไห้สิ้นเชิงตามประเพนีจีน นายเหมืองไม่มีเงินพอจะไห้ ขอผ่อนผัด พวกกัมกรจะเอาไห้จงได้ ก็เกิดทุ่มเถียง จนเลยวิวาทกันขึ้น พวกกัมกรค่าพวกนายเหมืองตาย ชรอยผู้ตายจะเปนตัวนายคนหนึ่ง พวกกัมกรจึงตกไจเกรงว่าจะถูกจับเอาไปลงโทส ก็พากันถือเครื่องสาตราวุธหนีออกจากเมืองระนอง หมายว่า จะเดินบกข้ามพูเขาบันทัดไปหาที่ซ่อนตัวหยู่ที่เหมืองแร่ไนแขวงเมืองหลังสวน เมื่อไปถึงด่าน พวกชาวด่านเห็นกิริยาอาการผิดปรกติ สงสัยว่า จะเปนโจรผู้ร้าย จะเอาตัวเข้ามาไห้ไต่สวนที่เมือง ก็เกิดวิวาทกันขึ้น คราวนี้ ถึงยิงกันตายทั้งสองข้าง พวกชาวด่านจับจีนได้ 8 คน คุมตัวเข้ามายังเมืองระนอง ถึงกลางทาง พวกจีนกัมกรเปนอันมากพากันมากลุ้มรุมแทงฟันพวกชาวด่านชิงเอาพวกจีนที่ถูกจีนไปได้หมด แล้วพวกจีนกัมกรก็เลยเปนกบด รวบรวมกันประมาน 500–600 คนออกจากเหมืองแร่เข้ามาเที่ยวไล่ค่าคนและเผาบ้านเรือนไนระนอง พระยาระนองไม่มีกำลังพอจะปราบปราม ก็ได้แต่รักสาบริเวนสาลากลางอันเปนสำนักรัถบาลไว้ พวกจีนกบดจะตีเอาเงินที่ไนคลังไม่ได้ ก็พากันเที่ยวเก็บเรือทเลบันดามีที่เมืองระนอง และไปปล้นฉางเอาข้าวบันทุกลงไนเรือ แล้วก็พากันลงเรือแล่นหนีไปทางทเลประมาน 300–400 คน ที่ไปทางเรือไม่ได้ก็พากันไปทางบก หนีไปยังที่เหมืองแร่ไนแขวงเมืองหลังสวนประมาน 300–400 คน พอประจวบกับเวลาเรือรบไปถึงเมืองระนอง เหตุที่อั้งยี่เมืองระนองเปนกบดก็สงบลง ไม่ต้องรบพุ่งปราบปราม เพราะเปนกบดแต่พวกปูนเถ้าก๋งหนีไปหมดแล้ว พวกงี่หินที่ยังหยู่หาได้เปนกบดไม่

แต่ที่เมืองพูเก็ตมีจีนกัมกรหลายหมื่น จำนวนมากกว่าเมืองระนองหลายเท่า และพวกจีนก็มีเหตุเดือดร้อนด้วยดีบุกตกราคาเช่นเดียวกันกับเมืองระนอง ทั้งยังมีเหตุอื่นนอกจากนั้น ด้วยพวกอั้งยี่ปูนเถ้าก๋งสงสัยว่า เจ้าเมืองลำเอียงเข้ากับพวกงี่หิน มีความแค้นเคืองหยู่บ้างแล้ว พอพวกอั้งยี่ที่หนีมาทางเรือจากเมืองระนองมาถึงเมืองพูเก็ตแยกย้ายกันไปเที่ยวอาสัยหยู่ตามโรงกงสีอั้งยี่พวกของตนตามตำบนต่าง ๆ ไปเล่าว่า เกือบจะตีเมืองระนองได้ หากเครื่องยุธภันท์ไม่มีพอมือ จึงต้องหนีมา ก็มีพวกหัวโจกตามกงสีต่าง ๆ ชักชวนพวกอั้งยี่ไนกงสีของตนไห้รวมกันตีเมืองพูเก็ตบ้าง แต่ปกปิดมิไห้หัวหน้าต้นแซ่รู้ ก็รวมได้ แต่บางกงสีไม่พรักพร้อมกัน เวลานั้น พระยามนตรีสุริยวงส์ (ชื่น บุนนาค) เมื่อยังเปนที่เจ้าหมื่นเสมอไจราช หัวหมื่นมหาดเล็ก เปนข้าหลวงประจำหัวเมืองฝ่ายตะวันตกทั้งปวงหยู่นะเมืองพูเก็ต มีเรือรบ 2 ลำกับโปลิสสำหรับรักสาสำนักรัถบาลประมาน 100 คนเปนกำลัง ส่วนการปกครองเมืองพูเก็ตนั้น พระยาวิชิตสงคราม (ทัด) ซึ่งเปนพระยาพูเก็ตหยู่จนแก่ชรา จึงเลื่อนขึ้นเปนจางวาง แต่ก็ยังว่าราชการและผูกพาสีผลประโยชน์เมืองพูเก็ตหยู่หย่างแต่ก่อน เปนผู้ที่พวกจีนกัมกรเกลียดชังว่า เก็บพาสีไห้เดือดร้อน แต่หามีไครคาดว่าพวกจีนกัมกรจะกำเริบไม่

แต่แรกเกิดเหตุเมื่อเดือน 4 ขึ้น 13 ค่ำ ปีชวด พ.ส. 2419 เวลาบ่ายนั้น กลาสีเรือรบพวกหนึ่งขึ้นไปบนบก ไปเมาสุรา เกิดทเลาะกับพวกจีนที่ไนตลาดเมืองพูเก็ต แต่ไม่ทันถึงทุบตีกัน มูลนายเรียกกลาสีพวกนั้นกลับลงไปเรือเสียก่อน ครั้นเวลาค่ำ กลาสีพวกอื่น 2 คนขึ้นไปบนบก พอพวกจีนเห็น กลุ้มรุมทุบตีแทบปางตาย โปลิสไประงับวิวาท จับได้จีนที่ตีกลาสี 2 คน เอาตัวเข้าไปส่งข้าหลวง ไนไม่ช้าก็มีจีนพวกไหย่ประมาน 300 คนซึ่งรวบรวมกันหยู่ไนตลาด ถือเครื่องสาตราวุธพากันไปรื้อโรงโปลิส แล้วเที่ยวปล้นบ้านเผาวัดและเรือนไทยที่ไนเมือง พบไทยที่ไหนก็ไล่ค่าฟัน พวกไทยหยู่ไนเมืองมีน้อยกว่าจีน ก็ได้แต่พากันหนีเอาตัวรอด ฝ่ายพวกจีนได้ที ก็เรียกกันเพิ่มเติมเข้ามาจนจำนวนกว่า 2,000 คน แล้วยังตามกันยกเข้ามาหมายจะปล้นสำนักงานรัถบาลและบ้านพระยาวิชิตสงคราม เปนการกบดออกหน้า พระยาวิชิตสงครามอพยพครอบครัวหนีเอาตัวรอดไปได้ แต่พระยามนตรีฯ ไม่หนี ตั้งต่อสู้หยู่ไนบริเวนสำนักรัถบาล และรักสาบ้านพระยาวิชิตสงครามซึ่งหยู่ติดต่อกันไว้ด้วย ไห้เรียกไทยบันดามีไนบริเวนสาลารัถบาลและถอดคนโทสที่ไนจำออกมาสมทบกับโปลิสซึ่งมีหยู่ 100 คน แล้วได้ทหานเรือไนเรือรบขึ้นมาช่วยอีก 100 คน รายกันรักสาทางที่พวกจีนจะเข้าได้ และเอาปืนไหย่ตั้งจุกช่องไว้ทุกทาง แล้วไห้ไปเรียกจีนพวกหัวหน้าต้นแซ่ซึ่งหยู่ไนเมืองเข้ามาประชุมกันที่สาลารัถบาลไนค่ำวันนั้น และรีบเขียนจดหมายถึงหัวเมืองอื่น ๆ ที่ไกล้เคียงไห้ส่งกำลังมาช่วย และมีหนังสือส่งไปตีโทรเลขที่เมืองปีนังบอกข่าวเข้ามากรุงเทพฯ และมีจดหมายบอกอังกริดเจ้าเมืองปีนังไห้กักเครื่องอาวุธยุธภันท์อย่าไห้พวกจีนส่งมายังเมืองภูเก็ต ไห้คนถือหนังสือลงเรือเมล์และเรือไบไปยังเมืองปีนังและที่อื่น ๆ ตามสามาถจะไปได้ ไนค่ำวันนั้น จีนพวกหัวหน้าต้นแซ่พากันเข้าไปยังสาลารัถบาลตามคำสั่งโดยมาก และรับจะช่วยรัถบาลตามแต่พระยามนตรีฯ จะสั่งไห้ทำประการได พระยามนตรีฯ จึงสั่งไห้พวกหัวหน้าเขียน "ตั๋ว" ออกไปถึงพวกแซ่ของตนที่มากับพวกผู้ร้ายสั่งไห้กลับไปที่หยู่ของตนเสียตามเดิม มีทุขร้อนหย่างไร พวกหัวหน้าต้นแซ่จะช่วยแก้ไขไห้โดยดี ก็มีพวกกัมกรเชื่อฟังพากันกลับไปเสียมาก พวกที่ยังเปนกบดหยู่น้อยตัวลง ก็ไม่กล้าเข้าตีสาลารัถบาล พระยามนตรีฯ จึงจัดไห้จีนหัวหน้าต้นแซ่คุมจีนพวกของตัวตั้งเปนกองตระเวนคอยห้ามปรามหยู่เปนแห่ง ๆ ที่ไนเมืองก็สงบไป แต่พวกจีนกบดที่มีหัวโจกชักนำไม่เชื่อฟังหัวหน้าต้นแซ่ เมื่อเห็นว่า จะตีสาลารัถบาลไม่ได้ ก็คุมกันเปนพวก ๆ แยกกันไปเที่ยวปล้นทรัพย์เผาเรือนพวกชาวเมืองต่อออกไปถึงตามบ้านนอก ราสดรน้อยกว่าก็ได้แต่หนีเอาตัวรอด ก็เกิดเปนจลาจลทั่วไปทั้งเมืองพูเก็ต มีแต่ที่บ้านฉลองแห่งเดียว ชาวบ้านได้สมภารวัดฉลองเปนหัวหน้าอาดต่อสู้ชนะพวกจีน (ดังได้เล่ามาไนนิทานที่ 2 เรื่อง พระครูวัดฉลอง) แม้พระยามนตรีฯ ก็มีกำลังเพียงจะรักสาสาลารัถบาล ยังไม่สามาถจะไปปราบพวกจีนกบดตามบ้านนอกได้

เมื่อรัถบาลไนกรุงเทพฯ ได้รับโทรเลขว่า เกิดกบดที่เมืองพูเก็ต จึงโปรดไห้พระยาประภากรวงส์ (ชาย บุนนาค) เมื่อยังเปนที่เจ้าหมื่นวัยวรนาถ หัวหมื่นมหาดเล็ก เปนข้าหลวงไหย่มีอำนาดบังคับบันชาการปราบอั้งยี่ได้สิธิขาด (เพราะพระยามนตรีฯ เปนลูกเขยพระยาวิชิตสงคราม เกรงจะบังคับการไม่ได้เด็ดขาด ต่อพายหลังจึงซาบว่า เพราะพระยามนตรีฯ ต่อสู้ จึงไม่เสียเมืองพูเก็ต) คุมเรือรบกับทหานและเครื่องสาตราวุธยุธภันท์เพิ่มเติมออกไป พระยาประภาฯ ไปถึงเมืองพูเก็ต ก็ไปร่วมมือกับพระยามนตรีฯ ช่วยกันรวบรวมรี้พลทั้งไทยและมลายูที่ไปจากหัวเมืองปักส์ไต้เข้าเปนกองทัพ และเรียกพวกเจ้าเมืองที่ไกล้เคียงไปประชุมปรึกสากันไห้ประกาสว่า จะเอาโทสแต่พวกที่ค่าคนและปล้นสดม พวกกัมกรที่ได้ประพรึติร้ายเช่นนั้น ถ้าลุแก่โทสต่อหัวหน้าต้นแซ่และกลับไปทำการเสียโดยดี จะไม่เอาโทส พวกจีนที่เปนแต่ชั้นสมพลก็พากันเข้าลุแก่โทสโดยมาก จับได้ตัวหัวโจกและที่ได้ประพรึติร้ายบ้าง แต่โดยมากพากันหลบหนีจากเมืองภูเก็ตไปตามเมืองไนแดนอังกริด การจลาจลที่เมืองพูเก็ตก็สงบ

ไนครั้งนั้น ซงพระกรุนาโปรดปูนบำเหน็ดไห้เจ้าหมื่นวัยวรนาถ (ชาย บุนนาค) เลื่อนขึ้นเปนพระยาประภากรวงส์ ไห้เจ้าหมื่นเสมอไจราช (ชื่น บุนนาค) เลื่อนขึ้นเปนพระยามนตรีสุริยวงส์ ตำแหน่งจางวางมหาดเล็ก และได้รับพระราชทานพานทองเสมอกันทั้ง 2 คน พวกกรมการที่ได้ช่วยรักสาเมืองพูเก็ตนั้น ก็พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรน์บ้าง เลื่อนบันดาสักดิ์บ้าง ตามควนแก่ความชอบ ที่เปนแต่หัวหน้าต้นแซ่ซึ่งได้ช่วยราชการครั้งนั้น โปรดไห้ส้างเหรียนติดอกเปนเครื่องหมายความชอบ (ซึ่งมาเปลี่ยนเปนเหรียนดุสดีมาลาเมื่อพายหลัง) พระราชทานเปนบำเหน็ดความชอบทุกคน แต่นั้น พวกอั้งยี่ที่เมืองพูเก็ตก็ราบคาบ

เมื่อระงับอั้งยี่ที่เมืองระนองกับเมืองพูเก็ตซึ่งเปนกบดขึ้นเมื่อปีชวด พ.ส. 2419 เรียบร้อยแล้ว ต่อมาอีก 9 ปี ถึงปีระกา พ.ส. 2428 เกิดอั้งยี่กำเริบขึ้นตามหัวเมืองไนแหลมมลายูอีกครั้งหนึ่ง แต่เปนหย่างแปลกประหลาดผิดกับที่เคยมีมาแต่ก่อน ด้วยพวกอั้งยี่ล้วนเปนไทยไปเอาหย่างจีนมาตั้งอั้งยี่ขึ้น เรียกพวกตัวเองว่า "งี่หินหัวควาย" แต่ไนทางราชการไช้ราชาสัพท์เรียกว่า "งี่หินสีสะกะบือ" หัวหน้ามักเปนพระภิกสุซึ่งเปนสมภารหยู่ตามวัด เอาวัดเปนกงสีที่ประชุม จะมีขึ้นที่เมืองไหนก่อนไม่ซาบแน่ แล้วผู้ต้นคิดแต่งพัคพวกไปเที่ยวเกลี้ยกล่อมผู้คน คือ สมภารตามวัดโดยฉเพาะไห้ตั้งอั้งยี่งี่หินหัวควายขึ้นตามเมืองต่าง ๆ ทางเมืองปักส์ไต้ตั้งแต่เมืองกำเนิดนพคุน เมืองปทิว เมืองชุมพร เมืองหลังสวน เมืองไชยา ลงไปจนถึงเมืองกาญจนดิถ ทางเมืองฝ่ายตะวันตกก็เกิดที่เมืองตะกั่วทุ่ง เมืองตะกั่วป่า เมืองคิรีรัตนนิคม และเมืองถลาง ก็แต่ธัมดาของการตั้งอั้งยี่เหมาะแต่ฉเพาะกับจีน เพราะเปนชาวต่างประเทสมาหากินหยู่ต่างด้าว จึงรวมเปนพวกเพื่อป้องกันตัวมิไห้พวกชาวเมืองข่มเหง หย่างหนึ่ง เพราะพวกจีนมาหากินด้วยเปนกัมกรอาสัยเลี้ยงชีพแต่ด้วยค่าจ้างที่ได้จากค่าแรงงาน จึงรวมกันเปนพวกเพื่อจะมิไห้แย่งงานกันทำ และมิไห้ผู้จ้างเอาเปรียบลดค่าจ้างโดยอุบายต่าง ๆ ตลอดจนสงเคราะห์กันไนเวลาต้องตกยาก พวกจีนชั้นเลวจึงเห็นว่า เปนประโยชน์แก่ตนที่จะเข้าเปนอั้งยี่ แต่ไทยเปนชาวเมืองนั้นเอง ต่างมีถิ่นถานทำการงานหาเลี้ยงชีพได้โดยอิสระลำพังตน ไม่มีกรนีที่ต้องเกรงภัยเหมือนหย่างพวกจีนกัมกร การที่ตั้งอั้งยี่เปนแต่พวกคนพาลที่เปนหัวหน้าประสงค์ลวงเอาเงินค่าทำเนียม โดยอ้างว่า ถ้าเข้าเปนอั้งยี่จะเปนประโยชน์แก่ตนหย่างนั้น ๆ ครั้นรวมกันตั้งเปนอั้งยี่ ไม่มีกรนีอันเปนกิจการของสมาคมหย่างพวกจีน พวกหัวโจกก็ชักชวนไห้พวกอั้งยี่แสวงหาผลประโยชน์ด้วยทำเงินแดงบ้าง ด้วยคุมกันเที่ยวปล้นสดมชาวบ้านเอาทรัพย์สินบ้าง พวกงี่หินหัวควายมีขึ้นที่ไหน พวกชาวเมืองก็ได้ความเดือดร้อนเช่นเดียวกับเกิดโจรผู้ร้ายชุกชุม แต่การปราบปรามก็ไม่ยาก เพราะมีแต่แห่งละเล็กละน้อย ชาวเมืองก็พากันเกลียดชังพวกงี่หินหัวควาย คอยช่วยรัถบาลหยู่ทุกเมื่อ ครั้งนั้น โปรดไห้พระยาสุริยภักดี (ตัวชื่ออะไร และพายหลังจะได้มียสสักดิ์เปนหย่างไร สืบยังไม่ได้ความ) เปนข้าหลวงลงไปชำระทางหัวเมืองปักส์ไต้ ไห้ข้าหลวงประจำเมืองพูเก็ตลงไปชำระทางหัวเมืองฝ่ายตะวันตก ไห้จับแต่ตัวหัวหน้านายโจกและที่ได้กะทำโจรกัมส่งเข้ามาลงพระอาญาไนกรุงเทพฯ พวกที่เปนแต่เข้าเปนอั้งยี่ไห้เรียกประกันทานบนแล้วปล่อยไป ไนไม่ช้าก็สงบเรียบร้อย ถ้าไม่เขียนเล่าไว้ไนที่นี้ ก็เห็นจะไม่มีไครรู้ว่า เคยมีอั้งยี่ "งี่หินหัวควาย"

เมื่อสมเด็ดเจ้าพระยาฯ ออกจากตำแหน่งผู้สำเหร็ดราชการแผ่นดินแล้ว ท่านยังดูแลควบคุมพวกอั้งยี่ต่อมาจนตลอดอายุของท่าน ครั้นสมเด็ดเจ้าพระยาฯ ถึงพิราลัยเมื่อ พ.ส. 2425 การควบคุมพวกอั้งยี่ตกมาเปนหน้าที่ของกะซวงนครบาล ตั้งแต่กรมหมื่นภูธเรสทำรงสักดิ์เปนเสนาบดีสืบมาจนถึงกรมพระนเรสรวรริทธิ์เปนนายกกัมการบันชาการกะซวงนครบาลก็ยังคงไช้วิธีเลี้ยงอั้งยี่หยู่หย่างเดิม แต่ผิดกันกับแต่ก่อนเปนข้อสำคัน หย่างหนึ่ง ด้วยสมเด็ดเจ้าพระยาฯ คนยำเกรงทั่วไปทั้งแผ่นดิน แต่เสนาบดีกะซวงนครบาลมีอำนาดเพียงไนกรุงเทพฯ บางทีจะเปนเพราะเหตุนั้น เมื่อสิ้นสมเด็ดเจ้าพระยาฯ แล้ว พวกอั้งยี่จึงคิดวิธีหาผลประโยชน์เพิ่มขึ้นอีกหย่างหนึ่งทั้งที่ไนกรุงเทพฯ และตามหัวเมือง คือ นายอั้งยี่บางคนเข้ารับประมูนเก็บพาสีอากร ถ้าประมูนสู้คนอื่นไม่ได้ ก็ไห้พวกอั้งยี่ของตนที่มีหยู่ไนแขวงที่ประมูนนั้นคอยรังแกพวกเจ้าพาสีมิไห้เก็บอากรได้สดวกจนต้องขาดทุน เมื่อถึงคราวประมูนหน้า จะได้ไม่กล้าแย่งประมูนแข่งตัวนายอั้งยี่ เมื่อเกิดอุบายขึ้นหย่างนั้น คนอื่นก็เอาหย่าง มักเปนเหตุไห้เกิดอั้งยี่ต่างพวกก่อการวิวาทขึ้นตามหัวเมืองหรือไช้กำลังขัดขวางเจ้าพาสี บางทีถึงรัถบาลต้องปราบปราม ยกตัวหย่างดังเช่น พวกอั้งยี่ตั้งซ่องต้มเหล้าเถื่อนที่ตำบนดอนกะเบื้อง ไม่ห่างจากสถานีรถไฟสายไต้ที่บางตาลนัก แต่สมัยนั้นยังเปนป่าเปลี่ยว ชายแดนจังหวัดราชบุรีต่อกับจังหวัดนครปถม ขุดคูทำเชิงเทินเหมือนหย่างตั้งค่าย พวกเจ้าพาสีไปจับ ถูกพวกอั้งยี่ยิงต่อสู้จนต้องหนีกลับมา แต่เมื่อรัถบาลไห้ทหานเอาปืนไหย่ออกไป พวกอั้งยี่ก็หนีหมดไม่ต่อสู้ แต่พวกจีนเจ้าพาสีเขาคิดอุบายแก้ไขโดยไช้วิธีหย่างจีน บางคนจะผูกพาสีที่ไหนที่มีอั้งยี่มาก เขาชวนหัวหน้าไห้เข้าหุ้นโดยมิต้องลงทุน บางแห่งก็ไห้สินบนแก่หัวหน้าอั้งยี่ไนท้องถิ่น รักสาความสงบมาได้

ถึง พ.ส. 2432 พวกอั้งยี่ไนกรุงเทพฯ ก่อเหตุไหย่หย่างไม่เคยมีเหมือนมาแต่ก่อน ด้วยถึงสมัยนั้น มีโรงสีข้าวขนาดไหย่ ๆ ตั้งขึ้นหลายโรง เรือกำปั่นไฟก็มีมารับสินค้ามากขึ้น เปนเหตุไห้มีจีนเข้ามามากกว่าแต่ก่อน พวกจีนไหม่ที่เข้ามาหากินไนเมืองไทยสมัยนี้มีทั้งจีนแต้จิ๋วมาจากเมืองซัวเถา และจีนฮกเกี้ยนมาจากเมืองเอ้หมึง จีนสองพวกนี้พูดภาสาต่างกันและถือว่า ชาติภูมิต่างกัน แม้มีพวกเถ้าแก่รับจีนไหม่หยู่แต่ก่อน พวกจีนไหม่ต่างถือกันว่า เปนพวกเขาพวกเรา พวกแต้จิ๋วทำงานหยู่ที่ไหนมาก ก็คอยเกียดกันรังแกพวกฮกเกี้ยนมิไห้เข้าไปแซกแซงแย่งงาน พวกฮกเกี้ยนก็ทำเช่นนั้นบ้าง จึงเกิดเกลียดชังกัน ไปประชันหน้ากันที่ไหน ก็มักเกิดชกตีวิวาทไนระหว่างกัมกรจีนแต้จิ๋วกับฮกเกี้ยนเนือง ๆ เลยเปนปัจจัยไห้อั้งยี้รวมกันเปนพวกไหย่แต่ 2 พวก เรียกว่า "ตั้วกงสี" ของจีนแต้จิ๋ว พวกหนึ่ง เรียกว่า "ซิวลี่กือ" ของจีนฮกเกี้ยน พวกหนึ่ง ต่างประสงค์จะแย่งงานกันและกัน กะซวงนครบาลยังไช้วิธี "เลี้ยงอั้งยี่" หยู่หย่างแต่ก่อน ถ้าเกิดเหตุอั้งยี่ตีกัน ก็สั่งไห้นายอั้งยี่ไปว่ากล่าว แต่แรกก็สงบไปเปนพัก ๆ แต่เกิดมีตัวหัวโจกขึ้นไนอั้งยี่ที่สองพวก เปนผู้หยิงก็มี หาค่าจ้างไนการช่วยอั้งยี่แย่งงาน และช่วยหากำลังไห้ไนเวลาเมื่อเกิดวิวาทกัน พวกอั้งยี่ก็ไม่เชื่อฟังนายเหมือนแต่ก่อน แม้พวกอั้งยี่ก็ไม่ยำเกรงกะซวงนครบาลเหมือนเคยกลัวสมเด็ดเจ้าพระยาฯ พวกอั้งยี่จึงตีรันฟันแทงกันบ่อยขึ้น จนถึงรบกันไนกรุงเทพฯ เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ส. 2432

ไนสมัยนั้น (ค.ส. 1889) มีหนังสือพิมพ์บางกอกไตมส์ Bangkok Times ออกเสมอทุกวันแล้ว เมื่อเขียนนิทานนี้ ฉันตรวดเรื่องปราบอั้งยี่ปรากตไนหนังสือพิมพ์บางกอกไตมส์ประกอบกับความซงจำของฉันได้ความว่า เมื่อกลางเดือนมิถุนายน พ.ส. 2432 พวกอั้งยี่รวมผู้คนเตรียมการที่จะตีกันเปนขนานไหย่ กะซวงนครบาลเรียกพวกตัวนายหัวหน้าอั้งยี่ไปสั่งไห้ห้ามปราม แต่อั้งยี่มีหัวโจกหนุนหลังหยู่ ก็ไม่ฟังพวกนายห้าม พอถึงวันที่ 16 มิถุนายน พวกอั้งยี่ก็ลงมือเที่ยวรื้อสังกะสีมุงหลังคาและเก็บขนโต๊ะตู้หีบปัดตามโรงร้านบ้านเรือนของราสดรที่ริมถนนจเรินกรุงตอนไต้วัดยานนาวาเอาไปทำค่ายบังตัวขวางถนนจเรินกรุงทั้ง 2 ข้าง เอาท้องถนนตรงหลังโรงสีของห้างวินเซอร์ ซึ่งเรียกกันว่า โรงสีปล่องเหลี่ยม เปนสนามรบ พวกเจ้าของโรงสีทั้งที่เปนฝรั่งและจีนห้ามพวกอั้งยี่เปนกัมกรของตนก็ไม่ฟัง พลตระเวนห้ามก็ไม่หยุด กองตระเวนเห็นจีนมาเหลือกำลังที่จะจับกุม ก็ต้องถอยออกไปรักสาหยู่เพียงพายนอกแนวที่วิวาท ท้องที่ถนนจเรินกรุงตั้งแต่ตลาดบางรักลงไปก็ตกหยู่แก่อั้งยี่ทั้ง 2 พวก เริ่มขว้างปาตีรันกันแต่เวลาบ่าย พอค่ำลงก็เอาปืนออกยิงกันตลอดคืน ถึงวันพรึหัสบดีที่ 20 มิถุนายน โรงสีและตลาดยี่สานการค้าขายแต่บางรักลงไปต้องหยุดหมด และมีกิตติสัพท์ว่า พวกอั้งยี่จะเผาโรงสีที่พวกสัตรูอาสัย เจ้าของโรงสีก็พากันตกไจ ที่เปนโรงสีของฝรั่งไล่จีนออกหมดแล้วปิดประตูบริเวน ชวนพวกฝรั่งถืออาวุธไปช่วยกันล้อมวงรักสาโรงสี แต่โรงสีที่เปนจีนไม่กล้าไล่พวกกุลี เปนแต่ไห้ปิดโรงสีไว้ พวกอั้งยี่ยังรบกันต่อมาไนวันที่ 20 ถึงตอนบ่ายวันนั้น กะซวงนครบาลไห้ข้าราชการผู้ไหย่ไนกะซวงคุมพลตระเวนลงไปกองหนึ่งเพื่อจะห้ามวิวาท แต่พวกอั้งยี่มากกว่า 1,000 กำลังเลือดร้อน รบพุ่งกันไม่อ่อนน้อม ก็ไม่สามาถจะทำอะไรได้ หนังสือพิมพ์ว่า พวกอั้งยี่รบกัน 2 วัน ยิงกันตายสัก 20 คน ถูกบาดเจ็บกว่า 100 เอาคนเจ็บไปฝากตามบ้านฝรั่งที่หยู่ไนแถวนั้น ถึงวันสุกร์ที่ 21 มิถุนายน ทหานก็ลงไปปราบ

เพราะเหตุทหานจึงลงไปปราบอั้งยี่ไนครั้งนั้น ควนจะเล่าถึงประวัติทางฝ่ายทหานที่ปราบอั้งยี่เปนครั้งแรกไว้ด้วย แต่เดิม ทหานบกแยกการบังคับบันชาเปนกรม ๆ ต่างขึ้นตรงต่อพระองค์พระเจ้าหยู่หัวเหมือนกันทั้งนั้น ทหานเรือก็เปนเช่นเดียวกัน เมื่อ พ.ส. 2427 โปรดไห้ตั้งกรมยุธนาธิการขึ้น และรวมการบังคับบันชาทหานบกทุกกรมกับทั้งทหานเรือไห้ขึ้นหยู่ไนกรมยุธนาธิการ เมื่อได้ข่าวว่า พวกอั้งยี่จะตีกันเปนขนานไหย่ไนกรุงเทพฯ พระเจ้าหยู่หัวตรัดแก่สมเด็ดเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภานุพันธุวงส์วรเดช เมื่อยังเปนกรมพระ (จะเรียกต่อไปตามสะดวกหย่างเรียกไนรัชกาลที่ 7 ว่า สมเด็ดพระราชปิตุลา) ผู้บันชาการกรมยุธนาธิการว่า ถ้ากะซวงนครบาลไม่สามาถจะระงับได้ จะต้องไห้ทหานปราบ กรมยุธนาธิการมีเวลาเตรียมตัว 2 วัน คนะบันชาการมีสมเด็ดพระราชปิตุลาเปนนายพลเอกผู้บันชาการ พระองค์หนึ่ง สมเด็ดเจ้าฟ้า กรมพระนริสรานุวัดติวงส์ เมื่อยังเปนกรมขุน เปนนายพลตรีจเรกรมยุธนาธิการ พระองค์หนึ่ง ตัวฉัน เมื่อยังเปนกรมหมื่น เปนนายพลตรีผู้ช่วยบันชาการทหานบก คนหนึ่ง นายพลเรือจัตวา พระยาชลยุธโยธินท์ รักสาการแทนนายพลเรือตรี พระองค์เจ้าสายสนิธวงส์ ผู้ช่วยบันชาการทหานเรือซึ่งสเด็ดไปยุโรป คนหนึ่ง ประชุมปรึกสาการที่จะปราบอั้งยี่ เห็นพร้อมกันว่า จะปราบได้ไม่ยากนัก เพราะพวกอั้งยี่ถึงมีมากก็ไม่มีสาตราวุธซึ่งสามาถจะสู้ทหาน อีกประการหนึ่ง อั้งยี่ตั้งรบหยู่ไนถนนจเรินกรุง เปนที่แคบ ข้างตะวันตกติดแม่น้ำ ข้างตะวันออกก็เปนท้องนา ถ้าไห้ทหานยกลงไปทางบกตามถนนจเรินกรุงกองหนึ่ง ไห้ลงเรือไปขึ้นบนข้างที่ไต้รบยกขึ้นมาทางถนนจเรินกรุงอีกกองหนึ่ง จู่เข้าข้างหลังที่รบพร้อมกันทั้งข้างเหนือและข้างไต้ ก็คงล้อมพวกอั้งยี่ได้โดยง่าย แต่การที่จะจับพวกอั้งยี่นั้นมีข้อสำคันอีกหย่างหนึ่ง ด้วยจะไห้ทหานทำการเข้าขบวนรบ ถ้าไปทำแรงเกินไปหรืออ่อนเกินไป ก็จะเสียชื่อทหานทั้งสองสถาน จะต้องระวังไนข้อนี้ มีคำสั่งไห้ทหานเข้าไจทุกคนว่า ต้องจับโดยละม่อม ต่ออั้งยี่คนไดสู้หรือไม่ยอมไห้จับ จึงไห้ไช้อาวุธ อีกประการหนึ่ง จะต้องเลือกตัวหน้าที่จะคุมทหานไห้วางไจว่า จะทำการสำเหร็ดได้ แล้วปรึกสาเลือกกรมทหานที่จะไห้ลงไปปราบอั้งยี่ด้วย ไนเวลานั้น ทหานมหาดเล็กกับทหานเรือถือปืนหย่างดีกว่ากรมอื่น จึงกะไห้ทหานมหาดเล็กเปนกองหน้าสำหรับจับอั้งยี่ ไห้ทหานรักสาพระองค์เปนกองหนุน รวมกัน 4 กองร้อย ไห้เจ้าพระยาราชสุภมิตร (อ๊อด สุภมิตร) เมื่อยังเปนพันตรี จมื่นวิชิตชัยสักดาวุธ รองผู้บังคับการกรมทหานมหาดเล็ก เปนผู้บังคับการ ไห้นายร้อยเอก หลวงสัลวิธานนิเทส (เชา ซึ่งต่อมาพายหลังเปนพระยาวาสุเทพ อธิบดีกรมตำหรวดภูธร) ครูฝึกทหานมหาดเล็ก เปนผู้ช่วย สำหรับยกลงไปทางข้างเหนือ ส่วนกองที่จะขึ้นมาทางไต้นั้น ไห้ทหานเรือจัดพลจำนวนเท่ากันกับทหานบก และพระยาชลยุธฯ รับไปบังคับเอง เมื่อคนะบันชาการกรมกะโครงการแล้ว เรียกผู้บังคับการกรมทหานต่าง ๆ ไปประชุมที่สาลายุธนาธิการ สั่งไห้เตรียมตัวทุกกรม นอกจากทหานมหาดเล็ก กับทหานรักสาพระองค์ และทหานเรือ ซึ่งมีหน้าที่ไปปราบอั้งยี่นั้น ไห้ทหานกรมอื่น ๆ จัดกองพลรบพร้อมสรรพด้วยเครื่องสาตราวุธที่เตรียมไว้ที่โรงทหาน เรียกเมื่อไดไห้ทันทุกกรม เตรียมทหานพร้อมเส็ดไนวันพรึหัสบดีที่ 20 มิถุนายน รอฟังกะแสรับสั่งว่าจะไห้ยกไปเมื่อไดก็ไปได้

ไนกลางคืนวันที่ 20 นั้น เวลาสัก 2 นาลิกา ฉันกำลังนอนหลังหยู่ที่บ้านเก่าที่สพานดำรงสถิต สมเด็ดพระราชปิตุลากับสมเด็ดกรมพระนริสฯ สเด็ดไปปลุกเรียกขึ้นรถมายังสาลายุธนาธิการ พระยาชลยุธฯ ก็ถูกตามไปหยู่พร้อมกัน สมเด็ดพระราชปิตุลาตรัดบอกว่า เมื่อได้ประชุมเสนาบดีไนค่ำวันนั้น ท่านได้กราบทูนพระเจ้าหยู่หัวว่า เตรียมทหานพร้อมแล้ว จะโปรดไห้ไปปราบอั้งยี่เมื่อไดก็จะรับสนองพระเดชพระคุน พระเจ้าตรัดถามกะซวงนครบาล ๆ กราบทูนว่า ยังหวังไจว่า จะห้ามไห้เลิกกันได้ ไม่ถึงต้องไช้ทหาน พระเจ้าหยู่หัวไม่พอพระราชหรึทัย ตรัดว่า กะซวงนครบาลได้รับมาหลายครั้งแล้ว ก็ไม่เห็นห้ามไห้หยุดได้ ดำหรัดสั่งเปนเด็ดขาดว่า กะซวงนครบาลไม่ระงับอั้งยี่ได้ไนวันที่ 20 นั้น ถึงวันสุกร์ที่ 21 มิถุนายน ก็ไห้ทหานลงไปปราบทีเดียว ไม่ต้องรั้งรอต่อไปอีก เมื่อเลิกประชุมเสนาบดี สมเด็ดพระราชปิตุลาซงนัดพบกับกรมพระนเรสรฯ ผู้บันชาการกะซวงนครบาล ไห้ไปพร้อมกันที่สาลายุธนาธิการแต่เวลาก่อนสว่าง ถ้าเวลานั้นอั้งยี่สงบแล้ว ทหานจะได้งดหยู่ ถ้ายังไม่สงบ พอสว่าง จะไห้ทหานยกลงไปทีเดียว คนะบันชาการจึงเรียกผู้บังคับการทหานกรมต่าง ๆ กับทั้งทหานมหาดเล็กและทหานรักสาพระองค์ที่จะไห้ไปปราบอั้งยี่มายังสาลายุธนาธิการไนตอนดึกค่ำวันนั้น พระยาชลยุธฯ กลับไปจัดเรือบันทุกทหานเรือเตรียมไว้ พอเวลาไกล้รุ่ง กรมพระนเรสรฯ สเด็ดไปถึง ทูนสมเด็ดพระราชปิตุลาว่า ไห้คนลงไปสืบดูแล้ว บัดเดี๋ยวหนึ่ง นายอำเพอนครบาลมาถึง ทูนว่า พวกอั้งยี่กำลังเอาปืนไหย่ขึ้นจากเรือทเลมาจะตั้งยิงกัน กรมพระนเรสฯ ก็ตรัดว่า เหลือกำลังนครบาลแล้ว ไห้ทหานปราบเถิด การที่ทหานปราบอั้งยี่ก็ลงมือแต่เวลานั้นไป

ก็ไนสมัยนั้นยังไม่มีรถยนต์ พอเวลาย่ำรุ่ง ต้องไห้ทหานรักสาพระองค์ซึ่งเปนกองหนุนเดินทางไปก่อน สั่งไห้ไปพักหยู่ที่วัดยานนาวา และไห้พนักงานไปตั้งสถานีโทรสัพท์สำหรับบอกรายงานถึงสาลายุธนาธิการนะที่นั้นด้วย แต่ทหานมหาดเล็กนั้นไห้รอหยู่ พอรถรางไฟฟ้าขึ้นมาถึงปลายทางที่หลักเมือง ก็สั่งยึดไว้หมดทุกหลัง แล้วไห้ทหานมหาดเล็กขึ้นรถรางขับตามกันลงไป พวกรถรางรู้ว่า ทหานจะไปปราบอั้งยี่ ก็ออกสนุก เต็มไจช่วยทหาน เพราะถูกอั้งยี่รังแกเบื่อเหลือทนหยู่แล้ว ส่วนทหานเรือก็ออกจากท่า กะเวลาแล่นลงไปไห้ถึงพร้อม ๆ กับทหานบก ถึงเวลา 8 นาฬิกา ก็สามาถเข้าล้อมพวกอั้งยี่พร้อมกันทั้งทางข้างเหนือและข้างไต้ดังหมายไว้แต่แรก พวกอั้งยี่ไม่ได้นึกว่า ทหานจะลงไปปราบ รู้เมื่อทหานถึงตัวแล้ว ก็ไม่รู้ที่จะทำหย่างไร มีตัวหัวโจกต่อสู้ถูกทหานยิงตายสักสองสามคน พวกอั้งยี่ก็สิ้นคิด ที่หยู่ห่างทหานก็พากันหลบหนี ที่หยู่ไกล้กลัวทหานยิงก็ยอมไห้ทหานจับโดยดี ไนสมัยนั้น จีนยังไว้ผมเปีย ทหานจับได้ก็ไห้เอาผมเปียผูกกันไว้เปนพวง ๆ ที่ทหานเรือจับได้ก็เอาลงเรือส่งขึ้นมา ที่ทหานบกจับได้เจ้าพระยาราชสุภมิตรก็ไห้ทหานรักสาพระองค์คุมเดินขึ้นมาทางถนนจเรินกรุงเปนคราว ๆ ราวหมู่ละ 100 คน พวกชาวเมืองไม่เคยเห็น ตื่นกันมาดูแน่นทั้งสองฟากถนนตลอดทาง ทหานจับพวกอั้งยี่ที่ไนสนามรบเส็ดแต่เวลาไนเวลาก่อนเที่ยง พวกหยิงชายชาวบ้านร้านตลาดพากันยินดี หาอาหารมาเลี้ยงกลางวัน พอกินแล้วก็เที่ยวค้นจับพวกอั้งยี่หลบหนีไปเที่ยวซุกซ่อนตามที่ต่าง ๆ ต่อไป ตอนนี้มีพวกนายโรงสีและชาวบ้านพากันนำทหานไปเที่ยวค้นจับได้พวกอั้งยี่อีกมาก ตัวหัวโจกซึ่งรีบหนีไปเสียก่อนก็จีบได้ไนตอนบ่ายนี้แทบทั้งนั้น รวมจำนวนอั้งยี่ที่ถูกทหานยิงตายไม่ถึง 10 คน ถูกบาดเจ็บสัก 20 คน จับได้โดยละม่อมราว 800 คน ได้ตัวหัวโจก 8 คน เมื่อเส็ดการจับแล้ว ถึงตอนเย็น กรมยุธนาธิการไห้ทหานหน้าลงไปหยู่ประจำรักสาความสงบไนท้องที่ เรียกทหานมหาดเล็กกับทหานเรือกลับมา บริสัทรถรางขอจัดรถรับส่งทหานทั้งขาขึ้นและขาลงแล้วแต่ทหานจะต้องการ ก็ไปมาได้โดยสดวก เมื่อขบวนรถรางรับทหานมหาดเล็กกลับขึ้นมาไนวันจับอั้งยี่นั้น พวกชาวเมืองทางข้างไต้ทั้งไทย จีน แขก ฝรั่ง พากันมายืนอวยชัยไห้พรสแดงความขอบไจทหานมหาดเล็ก เจ้าพระยาราชสุภมิตรเล่าว่า ยืนมาหน้ารถต้องจับกะบังหมวกรับคำนับมาแทบไม่มีเวลาว่างจนตลอดแขวงบางรัก ไนหนังสือพิมพ์บางกอมไตมส์เขียนตามเสียงฝรั่งไนสมัยนั้นก็สันเสินมาก ทั้งที่รัถบาลไห้ทหานไปปราบอั้งยี่ได้โดยเด็ดขาดรวดเร็ว และชมทหานไทยว่า กล้าหาน ว่องไว ชมต่อไปถึงที่ทหานจับอั้งยี่โดยไม่ดุร้ายเกินกว่าเหตุ เมื่อจับอั้งยี่แล้ว กรมยุธนาธิการไห้ทหานหน้ารักสาท้องที่วิวาทหยู่ 3 วัน เห็นสงบเรียบร้อยดีแล้ว ก็ไห้ถอนทหาน มอบท้องที่ไห้กรมตระเวนรับรักสาหย่างเดิม ส่วนพวกอั้งยี่ที่จับได้ตัวครั้งนั้น พระเจ้าหยู่โปรดไห้ตั้งสาลพิเสสชำระ พิพากสาไห้จำคุกหัวหน้าตัวการหมดทุกคน แต่พวกสมพลดูเหมือนไห้โบยคนละเล็กน้อยไห้เข็ดหลาบแล้วปล่อยตัวไป แต่นั้น พวกอั้งยี่ไนกรุงเทพฯ ก็ราบคาบ ไม่กล้าทนงสักดิ์ไนสมัยต่อมา

เมื่อปราบอั้งยี่ครั้งนั้นแล้ว พระเจ้าหยู่หัวโปรดไห้ตั้งพระราชบัญญัติห้ามมิไห้มีสมาคมอั้งยี่ไนพระราชอานาเขตอีกต่อไป รัถบาลอังกริดที่เมืองสิงคโปร์รู้ว่า ไทยสามาถปราบอั้งยี่ได้ ก็ประกาสสั่งไห้เลิกสมาคมอั้งยี่ไนเมืองขึ้นของอังกริดตามหย่างเมืองไทย วิธีเลี้ยงอั้งยี่ก็เลิกหมดแต่นั้นมา

เมื่อปราบอั้งยี่เส็ดแล้ว ไน พ.ส. 2432 นั้นเอง พระเจ้าหยู่หัวก็ซงพระกรุนาโปรดไห้สมเด็ดเจ้าฟ้ากรมพระนริสรานุวัดติวงส์เปนอธิบดีกะซวงโยธาธิการ และไห้ตัวฉันเปนอธิบดีกะซวงธัมการ มีสักดิ์เสมอเสนาบดี ก็ต้องออกจากตำแหน่งไนกรมยุธนาธิการด้วย แต่ยังคงมียสเปนนายพลและราชองครักส์หยู่หย่างเดิม เวลาตัวฉันเปนอธิบดีกะซวงธัมการหยู่ 2 ปี ไม่มีกิจเกี่ยวข้องกับอั้งยี่ จนถึง พ.ส. 2435 ซงพระกรุนาโปรดไห้ฉันเปนเสนาบดีกะซวงมหาดไทย จึงกลับมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับอั้งยี่อีก ด้วยต้องระวังพวกอั้งยี่ตามหัวเมืองหยู่เสมอ ถึงสมัยนี้ ไม่มีพวกอั้งยี่พวกไหย่เหมือนหย่างแต่ก่อน แต่ยังมีพวกจีนลักลอบตั้งอั้งยี่ตามหัวเมืองไกล้ ๆ กรุงเทพฯ หยู่เนือง ๆ มีขึ้นที่ไหนก็ปราบได้ไม่ยาก บางเรื่องก็ออกขบขัน ดังจะเล่าเปนตัวหย่างเรื่องหนึ่ง เมื่อแรกตั้งมนทลราชบุรี เวลานั้น เจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ (เทส บุนนาค) เมื่อยังเปนพระยาสุรินทรลือชัย เปนสมุหเทสาภิบาล มีพวกอั้งยี่ตั้งซ่องต้มเหล้าเถื่อนที่ตำบนดอนกะเบื้องทำสนามเพลาะสำหรับต่อสู้ขึ้นเหมือนอย่าครั้งก่อนที่ได้เล่ามาแล้ว เวลานั้น ยังไม่มีตำหรวดภูธร ฉันถามเจ้าพระยาสุรพันธฯ ว่า จะต้องการทหานปืนไหย่เหมือนหย่างปราบครั้งก่อนหรือหย่างไร เจ้าพระยาสุรพันธฯ ตอบว่า จะปราบด้วยกำลังไนพื้นเมืองดูก่อน ต่อมาสักหน่อย ได้ข่าวว่า พวกอั้งยี่ทิ้งค่ายที่ดอนกะเบื้องหนีไปหมดแล้ว ฉันพบเจ้าพระยาสุรพันธฯ ถามว่า ท่านปราบหย่างไร ท่านบอกว่า ไช้วิธีของสมเด็ดเจ้าพระยาฯ ซึ่งท่านเคยรู้มาแต่ก่อน ได้บอกหมายสั่งเกนท์กำลังและเครื่องอาวุธไห้ปรากตว่า จะไปปราบซ่องจีนที่ดอนกะเบื้อง แล้วไห้เอาปืนไหย่ทองเหลืองที่มีทิ้งหยู่ไต้กุนเรือนสมเด็ดเจ้าพระยาฯ 2 กะบอกออกมาขัดสีที่สนามไนบริเวนจวนของท่านว่า จะเอาไปยิงค่ายจีนที่ดอนกะเบื้อง พอข่าวระบือไป พวกอั้งยี่ก็หนีหมด เพราะพวกเจ๊กกลัวปืนไหย่ แต่เมื่อตั้งตำหรวดภูธรแล้ว ก็ไม่ต้องไช้อุบายหย่างนั้นอีก แต่อั้งยี่ที่มีขึ้นตามหัวเมืองไนชั้นฉันเปนเสนาบดีกะซวงมหาดไทยปราบปรามไม่ยากอันได ถึงกะนั้น เมื่อคิดดูก็น่าพิสวงว่า เพราะเหตุไดพวกจีนอั้งยี่จึงยังตั้งอั้งยี่ พิเคราะห์ตามเหตุการน์ที่เคยเกิดอั้งยี่มาแต่ก่อน เปนต้นว่า การห้ามสูบฝิ่นหย่างครั้งรัชกาลที่ 3 ก็ไม่มีแล้ว เหตุที่แย่งกันรับจีนไหม่ก็ไม่มีตามหัวเมือง เหตุที่แย่งกันผูกพาสีอากรก็ดี ที่ถูกเจ้าพาสีอากรเบียดเบียนก็ดี ก็ไม่มีแล้ว เพราะรัถบาลก็เก็บพาสีอากรเอง การปกครองท้องที่ก็เรียบร้อย ไม่ต้องมีปลัดจีนหรือกงสุลจีนไนบังคับสยามเหมือนหย่างแต่ก่อน แล้วไฉนจึงยังมีอั้งยี่ตามหัวเมือง สังเกตดูนักโทสที่ต้องจับเพราะเปนอั้งยี่ ดูก็มักจะเปนชั้นคนทำมาหากิน ไม่น่าจะเปนอั้งยี่ นึกสงสัยว่า ชรอยจะมีเหตุอะไรที่ยังไม่รู้ซึ่งเปนมูนไห้มีอั้งยี่ตามหัวเมือง ฉันจึงปรารภกับพระยาอัถการยบดี (ชุ่ม อัถจินดา) ซึ่งพายหลังได้เปนสมุหเทสาภิบาลมนทลราชบุรี เวลานั้นยังเปนพระยาราชเสนา หัวหน้าพนักงานอัยการไนกะซวงมหาดไทย ไห้ลองสืบสวนราสดรไนท้องถิ่นโดยฉเพาะพวกนักโทสที่เคยเข้าอั้งยี่ว่า เหตุไดจึงมีคนสมัคเปนอั้งยี่ สืบหยู่ไม่ช้าก็ได้เค้าว่า มีจีนพวกหนึ่งหยู่ไนกรุงเทพฯ (จะเรียกต่อไปว่า พวกต้นคิด) หากินด้วยการตั้งอั้งยี่ตามหัวเมือง วิธีของจีนพวกต้นคิดนั้น ถ้าเห็นว่า อาดจะตั้งอั้งยี่ได้ไนถิ่นอันเปนที่มีจีนตั้งทำมาหากินหยู่มากและมีการแข่งขันการค้าขาย ก็แต่งพัคพวกไห้ออกไปหยู่ยังถิ่นนั้นหย่างว่า ไปทำมาหากิน แต่แยกกันไปหยู่เปน 2 พวกเหมือนกับไม่รู้จักมักคุ้นกัน แล้วเสาะหาจีนที่เปนคนเกกมะเหรกไนที่นั้นคบหายุยงไห้วิวาทกับคนอื่น บางทีก็หาพวกจีนที่เปนหัวไม้ออกไปจากกรุงเทพฯ ไห้ไปก่อวิวาทเกิดตีรันกันขึ้นเนือง ๆ จนคนไนถิ่นนั้นเกิดหวาดหวั่นเกรงพวกคนพาลจะทำร้าย ก็เกลี้ยกล่อมชักชวนไห้เข้าพวกช่วยกันป้องกันภัย ไนไม่ช้า พวกจีนไนถิ่นนั้นก็แตกกันเปนพวกเขาพวกเรา แล้วเลยตั้งเปนอั้งยี่ 2 พวก แต่นั้น พวกลูกสมุนก็วิวาทกันเองเนือง ๆ ถ้ารัถบาลจับกุมเมื่อได ก็กลับเปนคุนแก่พวกต้นคิดซึ่งหลบหนีเอาตัวรอดเสียก่อนแล้วกลับไปหาผลประโยชน์ด้วยเรี่ยไร "เต๊ย" เอาเงินจากอั้งยี่พวกของตนโดยอ้างว่า จะเอาไปช่วยพัคพวกที่ถูกจับ เอากำไรไนการนั้นถึงโดยว่า ไม่มีการจับกุม เมื่อถึงเทสกาล ก็เต๊ยเงินทำงานปีไหว้เจ้าเอากำไรได้อีกเสมอทุกปี สืบได้ความดังว่ามานี้ ฉันจึงคิดอุบายแก้ไข ได้ลองไช้อุบายนั้นครั้งแรกเมื่อพวกอั้งยี่ตีกันที่บางนกแขวก แขวงจังหวัดราชบุรี จะเปนเมื่อปีไดจำไม่ได้ ฉันไห้พระยาอัถการยบดีออกไประงับ สั่งไห้ไปพยายามสืบจับเอาตัวพวกต้นคิดด้วยเกลี้ยกล่อมพวกคนไนท้องถิ่นที่เข้าอั้งยี่ ถ้าคนไหนไห้การรับสารภาพบอกความตามจริง ไห้เรียกทานบนปล่อยตัวไป หย่าไห้จับเอาตัวมาฟ้องสาลเหมือนหย่างแต่ก่อน หรือถ้าว่าอีกหย่างหนึ่ง ไห้เอาตัวต้นคิดเปนจำเลย เอาพัคพวกเปนพยาน พระยาอัถการยฯ ออกไปทำตามอุบายนั้นได้ผลสำเหร็ดบริบูรน์ พอสืบจับได้ตัวจีนต้นคิดที่ออกไปจากกรุงเทพฯ 5 คนเท่านั้น อั้งยี่ที่บางนกแขวกก็สงบเงียบทันที การจับอั้งยี่ตามหัวเมืองจึงไช้วิธีหย่างนั้นสืบมา สังเกตดูอั้งยี่ที่เกิดขึ้นไนชั้นพายหลังทหานปราบเมื่อ พ.ส. 2432 ดูเปนแต่การหากินของจีนเสเพลค้าความกลัวของผู้อื่นเอากำไรเลี้ยงตัวเท่านั้น


  1. มีใบแก้คำผิดให้แก้เป็น "5 คน" (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)